รีเซต

เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากสุดในรอบ 20 ปี ข่าวดีท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากสุดในรอบ 20 ปี ข่าวดีท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
บีบีซี ไทย
9 เมษายน 2563 ( 10:41 )
448
เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากสุดในรอบ 20 ปี ข่าวดีท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

เต่ามะเฟืองจะล่วงรู้ด้วยสัญชาตญาณหรือไม่ว่าเวลานี้ชายหาดจะสงบปราศจากการรบกวนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากเกิดโรคระบาดร้ายแรงต่อมนุษย์ โดยผู้คนได้แต่สงสัย...เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง นั่นคือแม่เต่ามะเฟืองได้ขึ้นวางไข่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ตและพังงารวมทั้งสิ้น 11 รัง ในฤดูวางไข่นี้ ก่อนที่ลูก ๆ ของมันจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนักไปทั่ว ซึ่งลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูไหน ๆ ในรอบกว่าสองทศวรรษ

 

ปรากฏการณ์ฤดูนี้ ในฤดูวางไข่ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2562 มีรายงานแม่เต่ามะเฟือง 4-5 ตัวขึ้นวางไข่ 4 พื้นที่ คือ

      1) หาดบ่อดาน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

      2) หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

      3) เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

      4) หาดทรายแก้ว-หาดไม้ขาว-หาดในทอน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

 

รวมทั้งหมด 11 รัง (ถูกขโมย 1 รัง) แต่ละรังมีไข่ประมาณ 60-120 ฟอง รังแรกเกิดขึ้นเมื่อ 17 พ.ย.2562 รังสุดท้ายเกิดขึ้น 10 ก.พ. 2563 ระยะเวลาฟักไข่จะอยู่ในช่วง 54-65 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหลุมทราย

 

นายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า เมื่อเทียบกับการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองจำนวน 3 รังในฤดูวางไข่ที่แล้ว และย้อนไปก่อนหน้านั้น เต่ามะเฟืองเว้นระยะขึ้นวางไข่ถึง 5 ฤดู ตามรายงานการวางไข่หนหลังสุดในพื้นที่ก็คือปี 2556 ขณะที่ในปี 2553 มีจำนวน 6 รัง สำหรับฤดูวางไข่นี้ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากกว่าสถิติที่เคยมีการบันทึกไว้ 9 รังในฤดูวางไข่ 2542 หรือเมื่อ 20 ปีมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเต่ามะเฟืองตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากผลกระทบจากการทำประมง แหล่งวางไข่ถูกรบกวนจากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว การลักลอบเก็บไข่เต่า และขยะทะเล

 

โดยหน้าที่อนุรักษ์ ในค่ำวันที่ 27 มี.ค. ลูกเต่ามะเฟืองเกือบ 50 ตัว ฟักออกจากไข่และพากันคลานลงทะเลที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง สร้างความยินดีแก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เฝ้าดูแลปกป้องไข่เต่ามะเฟือง 105 ฟอง มาเกือบ 2 เดือน นับตั้งแต่แม่เต่าขึ้นมาวางไข่บนชายหาดหลังวิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมืองเมื่อ 31 ม.ค.

 

เพื่อความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ได้ย้ายไข่เต่าทั้งหมดมาเพาะฟักบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ลูกเต่าสองตัวแรกฟักออกจากไข่เมื่อ 26 มี.ค. จนถึงวันที่ 28 มี.ค. มีลูกเต่าฟักเป็นตัวและกลับลงสู่ทะเลทั้งสิ้น 84 ตัว อัตราการรอดนับว่าสูงพอสมควร

 

เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน) และหายากที่สุดของไทย จากเมื่อแรกเกิดความยาวกระดองประมาณ 6 เซนติเมตร พอโตเต็มวัยอาจยาวกว่า 2 เมตร น้ำหนัก 500-700 กิโลกรัม

 

การอนุรักษ์เต่ามะเฟือง รวมถึงเต่าทะเลอื่น ๆ หลัก ๆ แล้วเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

"เหตุที่ 2 ปีมานี้พบเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากขึ้น ข้อแรกน่าจะยกเครดิตให้ระบบติดตามเรือประมงด้วยดาวเทียม (VMS) ที่ได้ผล ทำให้เรือประมงพาณิชย์โดยเฉพาะเรืออวนลากที่เป็นอันตรายต่อเต่ามะเฟืองลักลอบเข้ามาใกล้ชายฝั่งยากขึ้น ข้อสอง จากโครงการให้ค่าตอบแทนแก่ผู้แจ้งเบาะแสการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเล โดยกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลและถิ่นอาศัย พังงา-ภูเก็ต ทำให้ชาวบ้านหันมาช่วยเหลือมากขึ้น นอกเหนือจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งกองทัพเรือ จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเต่ามะเฟืองขึ้นตามชายหาดสำคัญ ๆ ตลอดช่วงฤดูวางไข่" นายปรารพ ซึ่งเฝ้าติดตามการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟืองมานานแสดงความเห็น

 

กรณีที่ขณะนี้โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ตามชายหาดมีคนน้อย นายปรารพมองเห็นแง่ดีว่าทำให้การรบกวนช่วงเพาะฟักและช่วงที่ลูกเต่าฟักจากไข่ลดลง เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวก มีสมาธิและไม่ต้องรับแรงกดดันให้ต้องช่วยเหลือลูกเต่าจนผิดธรรมชาติจนเกินไป

 

"ส่วนตัวรู้สึกดีใจมากที่เขาไม่หายไป เขากลับมา อาจยังไม่มากเท่าในสมัยก่อน แต่ยังมีความหวังว่าเมื่อหลาย ๆ ภาคส่วนร่วมมือกันแบบนี้มันก็มีโอกาสรอด" นายปรารพกล่าวกับบีบีซีไทยและย้ำว่า "แค่เรารักษาบ้านของเขาไว้ แล้วเจ้าของบ้านตัวจริงก็จะกลับมา"

 

วาฬบรูด้า วาฬโอมูระก็มา

ก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกกับบีบีซีไทยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมีรายงานการพบสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแค่เต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่มากกว่าปีก่อน ๆ เท่านั้น

 

"นอกจากเต่ามะเฟืองแล้ว ปีนี้เรายังเจอวาฬบรูด้าและวาฬโอมูระทางฝั่งอันดามันแถบพังงา ภูเก็ต ปีนี้เราพบวาฬโอมูระมากถึง 4-5 ตัว แล้วก็พบวาฬบรูด้าถี่มากขึ้น บ่งบอกถึงความชุกชุมของสัตว์ทะเลหายากที่เพิ่มมากขึ้น" นายก้องเกียรติกล่าว ในส่วนของเต่ามะเฟืองนั้น ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ บอกว่าอัตราการฟักอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก คือ ตั้งแต่ 60-90 เปอร์เซ็นต์ บางรังถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็มี

 

"ในทางวิชาการยืนยันว่า ลูกเต่าที่กำเนิดจากแหล่งไหน เขาจะมีความสุขกับแหล่งกำเนิดนั้นและจะกลับเข้ามา ดังนั้นจึงต้องมีการอนุรักษ์แหล่งกำเนิดของเต่าทะเลไว้ให้เขาได้มาเรียนรู้สภาพแวดล้อมและให้เขากลับไปตามธรรมชาติ" ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลให้ข้อมูล

 

ถามว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีส่วนทำให้เกิด "ข่าวดี" นี้หรือไม่ นายก้องเกียรติตอบว่า "โดยหลักการแล้ว การลดลงของนักท่องเที่ยวน่าจะมีผล เพราะว่าเมื่อมนุษย์ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลง แรงกดดันต่อพื้นที่ก็น้อยลง อีกฝ่ายหนึ่ง (สัตว์ทะเล) ก็ได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น"

 

 

นายก้องเกียรติบอกว่าทางสถาบันฯ ยังไม่ได้เก็บข้อมูลชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดและระบบนิเวศทางทะเลหลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง แต่โดยหลักการแล้วปริมาณนักท่องเที่ยวที่น้อยลงทำให้การใช้ทรัพยากรน้อยลง น้ำเสีย ของเสีย ขยะต่าง ๆ ก็น้อยลงตามไปด้วย จึงมีโอกาสให้ทะเลพักตัวและฟื้นตัวได้

 

"ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเราปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเลในช่วงฤดูมรสุม สัตว์ทะเลและระบบนิเวศจะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ทดแทนสิ่งที่ถูกทำลายไประหว่างฤดูกาลท่องเที่ยวได้ ดังนั้นการที่นักท่องเที่ยวหายไปในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ธรรมชาติจะได้พักตัวและฟื้นตัวขึ้นมา" เขาบอก

 

ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ บอกว่าการกลับมาของแม่เต่ามะเฟืองและสัตว์ทะเลหายากในช่วงนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่า มาตรการอนุรักษ์ที่เข้มข้นโดยเฉพาะการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นมีความจำเป็น

 

"ที่ผ่านมาเรามีมาตรการในระดับหนึ่งแล้วแต่สภาพแวดล้อมก็ยังเสื่อมโทรม แสดงว่าการอนุรักษ์ยังไม่เข้มข้นพอที่จะรักษาความสมบูรณ์ของทะเลเอาไว้ได้ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ชายหาดสาธารณะต่าง ๆ เราไม่เคยมีแนวทางนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ก็มีผู้ประกอบการมากขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรและการทิ้งของเสียมากขึ้นตามมา"

 

"ถ้าพูดในเชิงของนักอนุรักษ์ วิธีการที่ดีที่สุดคือไม่เข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงมันไม่สามารถทำได้เพราะเราต้องคิดถึงเชิงเศรษฐกิจด้วย ต้องหาจุดสมดุลว่าทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์ได้และรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรไว้ได้ด้วย" นายก้องเกียรติให้ความเห็น

 

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/203333584419957/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง