ทีมนักวิจัยจีน-ไทย ร่วมพิทักษ์ 'วาฬบรูด้า' อ่าวเป่ยปู้-อ่าวไทย
หนานหนิง/กรุงเทพฯ, 8 มิ.ย. (ซินหัว) -- การสำรวจและวิจัย "วาฬบรูด้า" บริเวณน่านน้ำเกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน กลายเป็นงานหลักของ "เฉินโม่" นักวิจัยผู้ช่วย และผู้นำทีมวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา
แต่ละปีเฉินจะใช้เวลาเกือบ 100 วัน อยู่บนเกาะเหวยโจว ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของอ่าวเป่ยปู้ ครอบคลุมพื้นที่ราว 25 ตารางกิโลเมตร และถือเป็นเกาะภูเขาไฟอายุน้อยที่สุดของจีน รวมถึงออกทะเลอีกกว่า 200 ครั้ง เพื่อบันทึกภาพและคลิปวิดีโอจำนวนมากของวาฬชนิดนี้กลุ่มหน่วยงานวิทยาศาตร์ของจีน ได้แก่ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี มหาวิทยาลัยอ่าวเป่ยปู้ และสถาบันชลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เริ่มต้นการวิจัยเกี่ยวกับฝูงวาฬบรูด้าในน่านน้ำเกาะเหวยโจวเมื่อปี 2016 โดยเฉินและทีมงานได้จัดตั้งฐานการวิจัยบนเกาะแห่งนี้ด้วย"ช่วงปี 2016-2018 เราพบวาฬบรูด้าฝูงนี้มีสมาชิกอยู่ราว 10 ตัวเท่านั้น แต่ตอนนี้จำนวนวาฬในฝูงดังกล่าวใกล้แตะ 50 ตัวแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง" เฉินกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการสำรวจพบแม่และลูกวาฬบรูด้า รวมถึงพฤติกรรมผสมพันธุ์ของวาฬบรูด้าโตเต็มวัยในน่านน้ำเกาะเหวยโจวด้วยขณะที่น่านน้ำ "อ่าวไทย" อันห่างไกลจากอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีมากกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่พรั่งพร้อมด้วยระบบนิเวศสภาพดีและแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ไม่ต่างกัน ก็พบเจอฝูงวาฬบรูด้าอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดความร่วมมือจีน-ไทย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและคุ้มครองวาฬชนิดนี้ร่วมกันเฉินเล่าว่าทีมวิจัยวาฬบรูด้าในอ่าวไทย สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย เดินทางมากว่างซีเมื่อเดือนเมษายน 2019 เพื่อร่วมสำรวจน่านน้ำเกาะเหวยโจวนาน 7 วัน จากนั้นทีมวิจัยของจีนก็เดินทางสู่อ่าวไทยในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพื่อทำการสำรวจแบบเดียวกัน จนนำไปสู่การกำหนดข้อตกลงสำรวจวาฬบรูด้าร่วมกันทุก 2 ปีทั้งนี้ ทีมวิจัยของจีนและไทยได้แลกเปลี่ยนและร่วมมือด้านเทคนิคและวิธีการสำรวจวาฬบรูด้า รวมถึงวิธีการวิจัยและประมวลผลข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลชนิดอื่นๆ ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายร่วมยืนยันหลังดำเนินการจำแนกลักษณะว่าฝูงวาฬบรูด้าในอ่าวเป่ยปู้และอ่าวไทยไม่ใช่วาฬกลุ่มเดียวกันพัชราภรณ์ เยาวสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยประมงประจำกรมฯ กล่าวว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก การแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝ่ายจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ศึกษาวิจัยได้อย่างคุ้มค่า เช่น วิธีสร้างพื้นที่คุ้มครองหรือแนวทางการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น"ทีมผู้เชี่ยวชาญของจีนแบ่งปันความรู้และข้อมูลผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยให้กระบวนการสังเกตการณ์สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น วิธีการและแนวทางจากทีมวิจัยของจีนนั้นควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้ในไทยอย่างมาก" พัชราภรณ์กล่าวทั้งนี้ วาฬบรูด้าจัดเป็นสัตว์คุ้มครองระดับสูงสุดของจีน ส่วนที่ไทยห้ามค้าวาฬบรูด้าทุกรูปแบบ การอนุรักษ์วาฬชนิดนี้กลายเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญระหว่างนักวิจัยของจีนและไทย โดยเฉินกล่าวว่าวาฬเป็นสัตว์ทะเลที่อพยพย้ายถิ่นตามแหล่งอาหาร การปกป้องแหล่งอาหารของพวกมันจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อความอยู่รอดเมืองเป่ยไห่ของกว่างซีออก "ข้อบังคับการปกป้องสิ่งแวดล้อมเกาะเหวยโจวของเมืองเป่ยไห่" เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 เพื่อส่งเสริมการปกป้องเกาะเหวยโจวและน่านน้ำโดยรอบ โดยข้อบังคับข้างต้นห้ามใช้กล่องโฟมแบบใช้แล้วทิ้ง และถุงพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ รวมถึงห้ามทำการประมงในน่านน้ำรัศมี 6 กิโลเมตรจากชายฝั่งเกาะเหวยโจวและเกาะเสียหยางด้านทีมนักวิจัยของไทยเดินหน้าวิจัยสิ่งมีชีวิตหายากในทะเลและยกระดับการวิจัยการกำจัดขยะในทะเล เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางทะเลของอ่าวไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยพัชราภรณ์ชี้ว่าการคุ้มครองวาฬบรูด้ายังครอบคลุมการปกป้องทรัพยากรทางทะเลอื่นๆ ด้วยแม้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้การสำรวจและสังเกตการณ์ภาคสนามของทีมนักวิจัยจีน-ไทยต้องหยุดชะงักชั่วคราว แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้าติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ โดยมีการแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น วิธีช่วยชีวิตวาฬเกยตื้นหรือวิธีรักษาบาดแผลบนตัววาฬ เป็นต้น"วาฬบรูด้าถือเป็นสิ่งมีชีวิตล้ำค่าของโลก มิใช่เฉพาะไทย จีน หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง" พัชราภรณ์กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่าการคุ้มครองวาฬบรูด้าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามและยั่งยืนยิ่งขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : วาฬบรูด้าในอ่าวไทย)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : ทีมนักวิจัยของจีนและไทยถ่ายภาพร่วมกันหลังการสัมมนาเรื่องวาฬบรูด้าในไทย วันที่ 27 ต.ค. 2019)
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยถ่ายภาพวาฬบรูด้าในอ่าวไทย วันที่ 11 พ.ค. 2022)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : วาฬบรูด้ากระโดดขึ้นจากน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 13 มี.ค. 2021)
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยแยกตัวอย่างน้ำในอ่าวไทย วันที่ 11 พ.ค. 2022)
(แฟ้มภาพซินหัว : วาฬบรูด้าในอ่าวไทย วันที่ 11 พ.ค. 2022)
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยส่องหาวาฬบรูด้าในอ่าวไทย วันที่ 11 พ.ค. 2022)
(แฟ้มภาพซินหัว : วาฬบรูด้าในอ่าวไทย วันที่ 11 พ.ค. 2022)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : วาฬบรูด้าหาอาหารในน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 5 ม.ค. 2020)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : วาฬบรูด้าหาอาหารในน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 5 ม.ค. 2020)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : วาฬบรูด้าในน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 8 มี.ค. 2022)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : ฝูงวาฬบรูด้าหาอาหารในน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 22 ก.พ. 2022)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : ทีมนักวิจัยของจีนและไทยถ่ายภาพร่วมกันหลังการสำรวจวาฬบรูด้าในไทย วันที่ 26 ต.ค. 2019)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : วาฬบรูด้าในน่านน้ำใกล้เกาะเหวยโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 3 ก.พ. 2021)
(ภาพจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์กว่างซี : ทีมนักวิจัยของจีนและไทยสำรวจวาฬบรูด้าในอ่าวไทย วันที่ 25 ต.ค. 2019)