รีเซต

เปิดปัจจัยหลังติดโควิดแม้รักษาดีขึ้น แต่อาจเกิดความผิดปกติในร่างกาย

เปิดปัจจัยหลังติดโควิดแม้รักษาดีขึ้น แต่อาจเกิดความผิดปกติในร่างกาย
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2565 ( 09:53 )
72

เปิดปัจจัยหลังติดเชื้อโควิดแม้รักษาช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 451,422 คน ตายเพิ่ม 845 คน รวมแล้วติดไป 654,595,394 คน เสียชีวิตรวม 6,661,142 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.76

...อัพเดตข้อมูลล่าสุด Long COVID จาก EU

สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ออกรายงานสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวานนี้้ 13 ธันวาคม 2565

ซึ่งได้ทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหา Long COVID

สาระสำคัญจากรายงานฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อทั้งตัวผู้ป่วย และสังคม

หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ไป แม้จะรักษาช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้ โดยผ่านกลไกต่างๆ อาทิ

1. อวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง 

2. การมีไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสคงค้างระยะยาวในร่างกาย และส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง

3. การติดเชื้อทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง

4. การติดเชื้อไวรัสกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

5. การติดเชื้อกระตุ้นให้ไวรัสอื่นที่เคยติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายกำเริบขึ้นมา เช่น EBV, Herpes virus

การศึกษาจากทั่วโลกและพิสูจน์ว่าเกิดปัญหาจากกลไกต่างๆ ข้างต้น และเป็นเหตุผลที่อธิบายอาการผิดปกติต่างๆ ของผู้ป่วย Long COVID ซึ่งเกิดปัญหาในแทบทุกระบบของร่างกาย และเกิดโรคเรื้อรังตามมา

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปนั้นได้ให้คำแนะนำประเทศต่างๆ ในเครือสหภาพยุโรปว่าจำเป็นต้องลงทุนวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะ Long COVID, ระดมทรัพยากรเพื่อลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ, ให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันโรค ลดการแพร่เชื้อติดเชื้อในประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีน, ปรับรูปแบบบริการในระบบสุขภาพทุกระดับให้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ, และพัฒนาระบบการประเมิน ติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการปัญหา Long COVID ได้อย่างถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์

...สำหรับไทยเรา ปัญหา Long COVID นั้นจะเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนการติดเชื้อแพร่เชื้อมีมากในการระบาดรุนแรงหลายระลอกตลอดสองปีที่ผ่านมา

หากใครประสบปัญหา ย่อมทราบด้วยตนเองว่า ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการทำงาน เรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน 

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ

การฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้

ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม

เลี่ยงการกินดื่มคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้าน

เลี่ยงที่แออัด คนเยอะ ระบายอากาศไม่ดี

เหนืออื่นใด สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

Independent Expert Panel on effective ways of investing in health publishes opinion on the impact of the post-COVID-19 condition (long COVID) on health systems. European Commission. 13 December 2022.




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก  TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง