รีเซต

เร่งระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก ช่วยคนริมน้ำ ควบคู่เก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้า

เร่งระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก ช่วยคนริมน้ำ ควบคู่เก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้า
TNN ช่อง16
26 ตุลาคม 2564 ( 16:56 )
39


ภาพจาก กรมชลประทาน





นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลหลากมาจากทางตอนบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสักลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าใช้อาคารชลประทานจัดจราจรทางน้ำ และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำป่าสัก ปัจจุบัน (26 ต.ค. 64) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีการระบายน้ำอยู่ที่ 525 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเริ่มลดลงจากเมื่อวานนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้


อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำลดลง 56 เซนติเมตร 

อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำลดลง 23 เซนติเมตร 

อ.เมืองสระบุรี ระดับน้ำลดลง 16 เซนติเมตร

อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 8 เซนติเมตร


ด้านเขื่อนพระรามหก ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 763 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันได้ทำการปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมคลอง  ทั้งยังช่วยแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้มากที่สุด 


ส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,513 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,648 ลบ.ม./วินาที แนมโน้มเริ่มทรงตัว ในขณะที่ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาบางจุดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากยังคงมีน้ำท่าในพื้นที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่

อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำลดลง 10 เซนติเมตร 

อ.เมือง จ.อ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร

อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2 เซนติเมตร

ในขณะที่คลองชัยนาท-ป่าสัก ยังคงการรับน้ำที่ประตูน้ำมโนรมย์ในอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงวันที่ 27 – 31 ตุลาคม 2564 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 27 - 29 ต.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างและเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชา ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา




ข่าวที่เกี่ยวข้อง