รีเซต

กทม.น่าห่วง! เตียง ICU อาจไม่พอ หากมีผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 ราย

กทม.น่าห่วง! เตียง ICU อาจไม่พอ หากมีผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 ราย
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2564 ( 14:57 )
475

วันนี้( 23 เม.ย.64) นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ขณะนี้เหลือเตียงไอซียู 69 เตียง และเตียงในห้องแยกความดันลบ 69 เตียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง 

ทั้งนี้ มีการพยากรณ์การใช้เตียงรองรับผู้ป่วยกรณีมีอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 1,500 คนต่อวัน จะทำให้ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ต้องใช้เตียงถึง 10-13 เตียงต่อวัน เท่ากับจะมีเตียงเหลือเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วย เพียงแค่ 6-8 วันเท่านั้น

ส่วนจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ คาดว่าจะต้องใช้ 52 เตียงต่อวัน ซึ่งจะมีเตียงใช้ได้ประมาณ 19 วัน นอกจากนี้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องเพิ่มตามไปด้วยจึงเป็นภารกิจที่กระทรวงสาธารณสุขจะนำไปหาแนวทางแก้ไขปัญหา

โฆษก ศบค.ยอมรับว่า การที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทะลุ 2,000 กว่าคนต่อวัน จะกระทบกับเตียงรองรับผู้ป่วยแน่นอน จึงต้องระดมแนวทางแก้ปัญหาจากทุกหน่วยงาน เพื่อเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการมาก รวมทั้งจะต้องปรับพื้นที่ในโรงพยาบาลในส่วนอื่นๆ เป็นห้องไอซียู สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และอาจจะต้องมีห้องไอซียูสนามด้วย แต่ยืนยันว่า ผู้ป่วยอาการหนักทุกคน ต้องได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ส่วนกรณีผู้ป่วยติดเชื้อบางราย ที่ยังไม่ได้สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ จนกระทั่งบางรายเสียชีวิตก่อนจะได้รับการรักษา โฆษก ศบค.ได้กราบขออภัยประชาชนที่ใช้บริการสายด่วน 1669 , 1668 และ 1330 สำหรับประสานจัดหาเตียง แต่ไม่ได้รับความสะดวกหรือต้องรอนาน 

ที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข และศบค.ชุดเล็ก ได้มอบหมายให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เข้ามาบริหารจัดการระบบสายด่วน เพื่อจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ โดยจะมีการปรับระบบ เพิ่มทีมรับโทรศัพท์อีก 50 สาย เพิ่มเติมจากสายด่วนที่มีอยู่ และปรับให้ทีมรับสายด่วนทั้ง 3 เบอร์ เป็นทีมแรกในการรับข้อมูลสำคัญของผู้ติดเชื้อ จากนั้นโอนข้อมูลผู้ป่วยต่อให้สายพิเศษ 50 สาย เป็นทีมที่โทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อประสานหาเตียง โดยในกลุ่มสายพิเศษ 50 สายนี้ จะแบ่งเป็น กลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง สำหรับให้บริการประชาชนตามระดับอาการ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ 1,423 คน ซึ่งเมื่อวานนี้(22 เม.ย.) สามารถหาเตียงให้ผู้ป่วยได้แล้ว 474 คน โดยการปรับระบบใหม่นี้ จะเน้นหาสถานที่รักษาให้กับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยก่อน เพื่อจะให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีสถานที่รักษาโดยไม่ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น และระบายผู้ป่วยอาการไม่มากออกจากโรงพยาบาลไปยังโรงพยาบาลสนาม  ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการมากและอาการหนัก ขอให้รออีกนิด ทีมสาธารณสุขจะเร่งหาเตียงให้เร็วที่สุด

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จะเร่งจัดหาโรงพยาบาลสนามให้ผู้ป่วยสีเขียว เพื่อจะได้นำเตียงในโรงพยาบาลมารองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ส่วนบุคลากรที่ทำหน้าที่รับสายด่วนนั้น มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆประมาณ 200 ชีวิต ล้วนแต่เป็นจิตอาสาเข้ามาทำงานรับสายด่วนโดยไม่มีวันหยุด และบางครั้งต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้ล่าช้าไปบ้าง ซึ่งมีการปรับระบบการทำงานตลอดเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุด


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง