รีเซต

วิเคราะห์สัญญาณ “มหาพายุเศรษฐกิจ” จ่อถล่มไทย

วิเคราะห์สัญญาณ “มหาพายุเศรษฐกิจ” จ่อถล่มไทย
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2566 ( 19:42 )
196

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” จากวิกฤติพลังงาน สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ มีผลต่อกำลังซื้อ กระทบต่อเนื่องถึงการค้าโลก พายุเศรษฐกิจ ที่ม้วนตัวมาพร้อมกันเป็น Perfect Storm กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ที่ต้องจับตา

 

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดมุมมองจากประสบการณ์ด้านการเงินที่ยาวนานมาหลายปี ชี้ว่าทั่วโลกควรต้องจับตาดูมหาพายุลูกนี้อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลรวมต่อเศรษฐกิจทั้งต่อชาติที่พัฒนาแล้ว และชาติที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นไปในลักษณะที่อาศัยและพึ่งพากัน


 

“ตามทฤษฎีแล้วมหาพายุเศรษฐกิจที่ว่า เกิดขึ้นจากนโยบายการเงินของโลกตะวันตกที่พยายามกดให้ดอกเบี้ยต่ำมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี หลังจากเกิดภาวะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพื่อก่อให้เกิดสภาพคล่อง ปัญหาที่ตามมาคือความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้นจากประชาชน และผู้ประกอบการที่มีสภาพคล่องมาก ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะ มีในหลายโอกาสที่เป็นการใช้จ่ายแบบไม่จำเป็นก่อให้เกิดหนี้  สิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเงินเฟ้อ”


 

เมื่อธนาคารในโลกตะวันตกเห็นแบบนี้ สิ่งที่ดำเนินการเพื่อรับมือ หนึ่งในวิธีที่ตรงจุดและง่ายที่สุดคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จูงใจให้สังคมและผู้ประกอบการลดการใช้จ่ายและเก็บเงินกันมากขึ้น แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับส่งผลให้หลายบริษัทล้มละลาย ซึ่งมีข้อมูลจาก Game of Trades สถาบันผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุน เปิดเผยว่าจำนวนบริษัทที่ล้มละลายในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นคล้ายกับการลากเส้นกราฟแนวดิ่ง เป็นสิ่งที่กำลังสะท้อนว่ามีอะไรบางอย่างที่กำลังผิดไปและน่าเป็นห่วง


 

คะแนนความเสียหายจากมหาพายุเศรษฐกิจ ?

นายธีระชัยเปิดเผยว่า หากจะให้คะแนนความเสียหายเต็ม 5 คะแนน ต้องยกให้ที่ยุโรปก่อน อาจได้คะแนนสูงถึง  4-4.5 ส่วนสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เป็นรองมากนัก โดยที่คะแนนความเสียหายอาจอยู่ที่ราว 3.5-4 ทั้งนี้เพราะยุโรปใช้เวลาราว 30 ปีในการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย โดยเฉพาะเวลานี้ที่มีการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้หลายชาติในยุโรปจำเป็นต้องออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่มาตรการที่ออกมากลับคล้ายบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาทำร้ายยุโรปเอง

“ราคาพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย เงินออมทรุดตัว ในขณะที่สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดจากปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งหมดนี้อาจหมายความได้ว่าอำนาจในการซื้อของภาครัฐและเอกชนจากโลกตะวันตกลดลง ประชาชนกลายเป็นผู้มีหนี้ ไม่มีเงินมาจับจ่ายซื้อของ เมื่อกำลังซื้อของผู้ประกอบการในยุโรป หรือสหรัฐฯ ลดน้อยลง ความสามารถในการสั่งซื้อของจากไทยก็ต้องลดน้อยลงตามไปด้วย หมายความว่า นี่เองที่ไทยจะโดนหางมหาพายุลูกนี้เล่นงานไปด้วย”


 


เศรษฐกิจไทยน่ากังวลเพียงใด ?

แต่หากจะให้คะแนนความเสียหายของพายุเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นกับไทย นายธีระชัย มองว่า คะแนนจะน้อยกว่ามาก อาจอยู่ที่เพียง 1 เต็ม 5 เท่านั้น เพราะไทยเป็นชาติที่มีอุตสหกรรมส่งออกสินค้าควบคู่กับการท่องเที่ยว ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วภาคการท่องเที่ยวยังมีหวังอยู่ แม้จะถูกกระทบอยู่บ้าง  แต่ที่สำคัญคือไทยไม่ได้เล่นเกมดอกเบี้ยที่หวือหวาเหมือนโลกตะวันตก


 


แต่แม้คะแนนความเสียหายจะให้อยู่ที่ 1 คะแนน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยง โดยอดีตขุนคลัง แบ่งความเสี่ยงได้เป็นสองข้อหลัก ๆ คือ

ประการแรก การส่งออกที่ลดน้อยลงจากกำลังซื้อที่ลดลง

ประการที่สอง สภาวะแบบนี้อาจส่งผลต่อธนาคาร ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องของลูกค้าที่อาจผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีนี้อาจมีคนตกงาน มีแรงกดดันทางหนี้ครัวเรือน


 

“ทางออกหรือวิธีการรับมือในก้าวแรกที่สำคัญมากอาจเป็นการรีบตั้งรัฐบาลก่อน เพื่อมีคนคุมหางเสือบริหารเศรษฐกิจบ้านเมือง จากนั้นภาระใหญ่อาจไปตกที่ขุนคลังคนใหม่ที่อาจต้องจัดให้มีการประชุมกับธนาคาร สภาอุตสหกรรมและหอการค้า อาจต้องมีการออกแบบเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลยคือหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรับมือกับมหาพายุลูกนี้ต่อไป”


 

สุดท้ายอดีตขุนคลัง ธีระชัย ย้ำว่าพายุเศรษฐกิจที่กระหน่ำโลกตะวันตก แม้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยน้อยกว่า แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ไม่ต้องตกใจ ตื่นกลัว แค่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อรับมือเท่านั้น !!


 

เรียบเรียงโดย : ชวัลน์ จันทร์ทรัพย์


เครดิตภาพ TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง