เฝ้าระวัง “คนเกือบจน” เปลี่ยนสถานะเป็น “คนจน”
ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่ทุกประเทศพยายามแก้ไขไม่ให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังทำให้สถานการณ์ความยากจนรุนแรงขึ้น หรือ เลวร้ายลงทั้งโลก รวมถึงประเทศไทยด้วยที่มีควมเสี่ยงคนจนจะเพิ่มขึ้น หลังจากปี2562 ที่ปรับลดลงเหลือเพียง 4.3 ล้านคน ต่ำที่สุดนับตั้่งแต่ปี 2531 สถานการณ์ความยากจนของโลกและของไทย จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจไซต์วันนี้จะพาไปสำรวจเรื่องนี้กัน
เริ่มจากสถานการณ์ความยากจนของโลก โดยล่าสุดมีรายงานของธนาคารโลก หรือ "เวิลด์แบงก์" ออกมาเตือนว่า ในปีนี้จำนวนผู้ที่มีความยากจนอาจถึง “ความยากจนขั้นรุนแรง” (extreme poverty) หรือน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ หรือตั้งแต่ปี 1998 (2541) ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตกาารเงินเอเชีย
โดยปีนี้ผู้ที่มี “ความยากจนขั้นรุนแรง” น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 115 ล้านคน / ขณะที่ ปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 150 ล้านคน เนื่องมาจาก วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ตามคำอธิบายของธนาคารโลกระบุว่า ความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) คือ ผู้ที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคน้อยกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 60 บาท) ต่อวัน โดยก่อนจะเกิดการระบาด ธนาคารโลกประเมินว่า อัตราความยากจนขั้นรุนแรงน่าจะลดเหลือเพียง 7.9% ของประชากรทั้งโลก ในปีนี้ แต่หลังจากเกิดการระบาดจึงปรับการคาดการณ์ อัตราความยากจนขั้นรุนแรงในปีนี้ เป็น 9.1% ถึง 9.4% ของประชากรทั้งโลก
เมื่อปี 2013 (2556) ธนาคารโลกเคยประกาศเป้าหมายว่า จะลดจำนวนผู้ที่มีความยากจนขั้นรุนแรงให้เหลือต่ำกว่า 3 เปอร์เซนต์ภายในปี 2030 แต่ล่าสุดธนาคารโลกได้ออกมายอมรับว่า เป้าหมายดังกล่าวยากที่จะสำเร็จ หากไม่การดำเนินนโยบายที่รวดเร็ว มีนัยยะสำคัญ และมากเพียงพอ เนื่องจาก ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 อัตราผู้ที่หลุดออกจากความยากจนเริ่มชะลอตัวมาสักระยะแล้ว
สำหรับสถานการณ์ความยากจนในประเทศน่ากังวลมากน้อยแค่ไหน ไปดูข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดสถานการณ์ความยากจนของไทยปี 2562 พบว่าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มีอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจำนวน 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงกำรบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น
ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อคนต่อเดือนจากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อคนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 ซึ่งการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย หรือสูงกว่าเส้นความยากจน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีตกกับคนยากจนมากขึ้น สำหรับปี 2562 เส้นความยากจน (Poverty Line) มีมูลค่อยู่ที่ 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มจาก 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2561
ทั้งนี้ เส้นความยากจน จะสะท้อนค่าใช้จ่ายมาตรฐานขั้นต่ำที่คนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ (Minimum Requirement) ในสังคม โดยคนที่มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพต่ำกว่ำเส้นความยากจน จะถือว่าเป็นคนจน
โดยเส้นความยากจนปี 2562 ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากเส้นความยากจนด้านอาหารเพิ่มจาก 1,500 บาท/คนเดือน เป็น 1,552 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนการบริโภคสินค้าจำเป็นอื่นที่มิใช่อาหาร (Non Food Line) ค่อนข้างทรงตัว โดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 1,210 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,211 บาทต่อคนต่อเดือน
จากสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ซึ่งมีจำนวนคนจน 4.3 ล้านคน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2531 และสัดส่วนคนจนปี 2562 ที่ร้อยละ 6.24 ทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่มีเป้าหมายให้สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ในปี 2564 อีกด้วย สะท้อนถึง การประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจน และการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความจนของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ยังต้องติดตามสถานการ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรค Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงานเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานจนทำให้สถานการณ์ความยากจน “เลวร้ายยิ่งขึ้น” ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนประชากรยากจนให้ต่อเนื่องถึงระยะสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้
แล้วกลุ่มไหนมีความเสี่ยงจะทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น ?
จากข้อมูลของสภาพัฒน์ เมื่อพิจารณาคนยากจนตามระดับความรุนแรง โดยแบ่งความยากจนออกเป็นกลุ่ม “คนยากจนมาก” และ “คนยากจนน้อย” พบว่า คนยากจนมาก (มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่ำเส้นความยากจนเกินกว่าร้อยละ 20) ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาความยากจนในด้านตัวเงินที่รุนแรง มีจำนวนทั้งสิ้น 1.28 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.50 ของคนยากจนทั้งหมด ลดลงจาก 2.65 ล้านคนในปี 2561 หรือลดลงร้อยละ 51.78 ขณะที่ “คนยากจนน้อย” หรือคนยากจนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อกาอุปโภคบริโภคใกล้เคียงกับเส้นความยากจน พบว่า มีจำนวน 3.05 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 4.04 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 24.43
จะเห็นว่าคนยากจนจะลดลงทั้งกลุ่มคนยากจนน้อย และคนยากจนมาก แต่พบว่ากลุ่ม “คนเกือบจน” กลับมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อพิจารณาคนเกือบจนหรือกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่คนยากจนแต่มีร่ายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประชากรในกลุ่มนี้มี “ความเสี่ยง” ที่จะเป็นคนยากจนได้ง่าย หากมีปัญหามากระทบ อาทิ การเจ็บป่วย การว่างงาน อุบัติภัย ฯลฯ ทั้งนี้ พบว่า ในปี 2562 คนเกือบจนมีจำนวนทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.79 ของประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจะมีจำนวนลดลงจากปีก่อนที่มีจำวน 5.55 ล้านคน แต่ยังต้อง "เฝ้าระวัง" และมีมาตรการดูแลช่วยเหลือต่อเนื่องเพื่อไม่ให้คนกลุ่มนี้ตกไปเป็นกลุ่มคนจน โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม https://www.youtube.com/watch?v=EiK_ASNx42c
ที่สำคัญหากเปรียบเทียบในมิติรายได้ของคนทั้ง 4 กลุ่ม พบว่า กลุ่ม “คนไม่จน” มีรายได้สูงสุดที่ 10,302 บาทต่อคนต่อเดือน สูง กว่า “คนเกือบจน” ถึงกว่า3 เท่า ขณะที่คนจนน้อย และคนเกือบจนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่างกันไม่มากนัก ที่ 3,235 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3,864 บาทต่อคนต่อเดือน ตามลำดับ สะท้อนถึงโอกาสที่ครัวเรือนเกือบจนจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นคนจนได้ง่าย
และในมิติการศึกษาพบว่า ครัวเรือนเกือบจน ครัวเรือนจนน้อย และครัวเรือนจนมาก เป็นครัวเรือนที่ได้รับการศึกษาต่ำ โดยมีสัดส่วนประชากรที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า ร้อยละ 75 โดย “คนเกือบจน” มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75.77 สะท้อนถึงโอกาสที่จะตกงาน หรือถูกเลิกจ้างได้ง่ายเช่นกัน
เพราะฉะนั้นหากดูตัวเลข “คนเกือบจน” จำนวน 5.4 ล้านคน อาจกล่าวได้ว่าในปีนี้โอกาสที่คนจนจะเพิ่มจากคนกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีคนตกงานจำนวนมากจากผลกระทบของโควิด-19 เพราะภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง โดยสภาพัฒน์คาดว่าจีดีพีจะติดลบร้อยละ 7.8 ถึงติดลบร้อยละ 7.3 และยังคาดว่ามี "ความเสี่ยง" ที่คนจะตกงานถึง 8.4 ล้านคน กลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงจะยากจนลงเพราะรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ แต่จะตกงานจริงเท่าไรต้องติดตาม
แต่จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ และธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ตรงกันว่าปีนี้น่าจะมีคนตกงาน 3-4 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้จะกลายเป็น "คนจน" แน่นอนเพราะดูด้านรายได้ เนื่องจากรายได้หายเพราะตกงาน
ขณะที่ รายงาน Thailand Economic Monitor ของธนาคารโลก คาดการณ์ว่า “ประเทศไทย” จะมีจำนวนคนจนปรับเพิ่มจาก 4.7 ล้านคนเมื่อช่วงไตรมาส 1/63 กระโดดเป็นเท่าตัวเป็น 9.7 ล้านคนเมื่อช่วงไตรมาส 2/63 และปรับลดเหลือ 7.8 ล้านคนในไตรมาส 3/63 หลังจากรัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินช่วยเหลือเข้าสู่ระบบ ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารโลกยังไม่ได้คาดการณ์ไว้ แต่ดูจากแนวโน้มก็น่าจะลดลงแต่คงไม่มาก
ดังนั้น แม้สถานการณ์ความยากจนของไทยในปี2562 จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ในปีนี้น่าจะไปทิศทางเดียวกับสถานาการณ์ความยากจนทั้งโลก ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และค่อนข้างน่าเป็นห่วง
แต่สถานการณ์ความยากจนในไทยจะเลวร้ายยิ่งขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมาตรการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ของภาครัฐว่าจะช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ "กลุ่มคนเกือบจน" และ "กลุ่มเสี่ยงจะตกงาน" ซึ่งมีความอ่อนไหวหรือเปราะบางที่จะเปลี่ยนสถานะเป็น "คนจน" ได้ง่าย และนี่คืออีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกและไทยต้องรับมือในยามที่เกิดวิกฤต
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม เฝ้าระวัง "คนเกือบจน" เปลี่ยนสถานะ เป็น "คนจน" | เศรษฐกิจInsight 28 ต.ค.63
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE