รีเซต

Smart Terra ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ นวัตกรรมช่วยดูแลต้นไม้

Smart Terra ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ นวัตกรรมช่วยดูแลต้นไม้
TNN ช่อง16
17 พฤษภาคม 2565 ( 11:46 )
124


สำหรับคนที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น อพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือหอพัก การจะปลูกต้นไม้ให้เจริญเติบโต บางครั้งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากต้นไม้ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ และมีพื้นที่ในการปลูกอย่างเพียงพอ  

ด้วยปัญหานี้ จึงทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ หรือ Smart Terra ที่มีเทคโนโลยีควบคุมสภาวะอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และการจำลองฝนตกฟ้าร้อง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้โดยตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะนี้ยังสามารถเสียนเสียงธรรมชาติเพื่อสร้างความผ่อนคลายได้อีกด้วย 


Smart Terra หรือ ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ

 

Smart Terra หรือ ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ ถูกพัฒนาโดยฉัตรพัฒน์ จิรธันยพัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉลาด อินโนเวชัน จำกัด ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้คนที่ชอบปลูกต้นไม้ แต่ไม่มีพื้นที่ สามารถปลูกต้นไม้ในบ้านได้โดยที่ไม่ต้องดูแล โดยเฉพาะเวลาเราไม่อยู่บ้านเป็นเวลานาน Smart Terra นี้ก็จะช่วยดูแลต้นไม้ให้สามารถที่จะเติบโตได้ ซึ่งที่มาของชื่อ Smart Terra ก็มาจากการรวมกันของ 2 คำ คือ Smart ที่หมายถึงความเฉลียวฉลาด และ Terra ที่แปลว่า พื้นดินหรือพื้นโลก รวมกันกลายเป็นระบบนิเวศอัจฉริยะ 


แนวคิดของ Smart Terra หรือ ระบบนิเวศอัจฉริยะ?

ฉัตรพัฒน์เล่าถึงแนวคิดของการสร้าง Smart Terra ขึ้นมาว่า "เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับการปลูกต้นไม้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้แสง การให้น้ำ หรือความสกปรกในการรดน้ำ รวมไปถึงเรื่องสภาพแวดล้อมนอกบ้านที่ทำให้เราไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้ ยิ่งเฉพาะเวลาที่เราไม่อยู่บ้านนานๆ เวลากลับมา มันจะเหี่ยวเฉาไป เรามองว่าต้นไม้ที่อยู่ในตู้ มันนิ่งๆ มันไม่มีไดนามิก ธรรมชาติให้สัตว์หรือให้ต้นไม้มันรู้สึกว่าได้อยู่ในธรรมชาติจริงๆ  ก็เลยเริ่มจำลองธรรมชาติเข้าไป ในการจำลองต้องทำให้เหมือน ต้อง simulate(จำลอง) ในเรื่องของแสง สี เสียง น้ำ และลม องค์ประกอบในตู้ Smart Terra มีครบในองค์ประกอบที่ธรรมชาติภายนอกมีอยู่จริง"


กว่าจะเป็นตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ ต้องผ่านการพัฒนามาหลายรูปแบบ

ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะนี้ ผ่านการออกแบบปรับปรุงมาหลายรอบ ทั้งรูปทรงภายนอกและเทคโนโลยีภายในตู้ โดยรวมแล้วจุดเด่นของ Smart Terra ก็คือการจำลองสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของต้นไม้ โดยที่เราสามารถควบคุมสภาพอากาศ ปรับเปลี่ยนแสง-เสียง อุณหภูมิ ความชื้น การสั่งให้พระอาทิตย์ขึ้นและตก ไปจนถึงเรียกฝนตกและพายุได้ง่าย ๆ ผ่านการสั่งงานทางแอปพลิเคชัน

โดยฉัตรพัฒน์ ระบุว่า "เรานำปัญหาที่เราพบมาลองออกแบบโดยใช้ตู้ปลาเก่า ๆ ลองดีไซน์ระบบขึ้นมา ออกแบบแผงวงจรเอง แรก ๆ ก็จะเป็นลักษณะของปุ่มกด เราทำมาหลายเวอร์ชันมาก เริ่มจากการที่เราทำระบบรดน้ำอัตโนมัติ รวมทั้งการให้แสง จากนั้นเราต่อ ยอดมาเรื่อย ๆ จนถึงเวอร์ชันสุดท้ายที่ออกสู่ตลาด จะมีแอปพลิเคชันพร้อมด้วยตัวของตู้ถูกดีไซน์ออกมาให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสมสำหรับการปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด"


รูปทรงตู้ Smart Terra ในช่วงแรก

 



ตู้ Smart Terra ในปัจจุบัน

 

 จุดเริ่มต้นของ Smart Terra มาจากเว็บไซต์ระดุมทุนชื่อดัง Kickstarter

จุดเริ่มต้นการเป็นที่รู้จักของระบบนิเวศอัจฉริยะมีความแตกต่างและน่าสนใจ เพราะมันเกิดขึ้นได้จากเงินทุนที่ได้รับผ่าน เว็บไซต์ระดมทุนชื่อดังที่มีผู้ติดตามทั่วโลก และมีเงินทุนนับพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ อย่างเว็บไซต์ Kickstarter โดยจะเป็นวิธีการเสนอไอเดียจากผู้พัฒนานวัตกรรม แล้วขอระดมทุนจากผู้ลงทุนหลาย ๆ คน เพื่อสนับสนุนโครงการ หรือ ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เรียกว่า Cloudfunding  ซึ่งตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะนี้นี่ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ระดมทุนได้สำเร็จ 


โดยฉัตรพัฒน์ เล่าถึงขั้นตอนและเทคนิกการระดมทุนในเว็บไซต์ที่มีคนติดตามหลายสิบล้านคนทั่วโลก ว่า "ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบ การทำเฟิร์มแวร์ พัฒนาซอฟต์แวร์อะไรต่าง ๆ มันง่าย แต่ว่ามันก็เป็นแค่ต้นแบบ แต่ถ้าเราจะพัฒนาจริงได้ เราต้องออกสู่กระบวนการผลิต เป็นลักษณะของ Mass Product (ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นผลิตจำนวนมาก เพื่อมีต้นทุนต่ำที่สุด) เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ ในแง่ของฮาร์ดแวร์ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีศักยภาพเงินลงทุนสูง แต่เราเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็เลยมองช่องทางของ Cloudfunding แพลตฟอร์มในสหรัฐอเมริกา เราทำต้นแบบมาให้เห็นว่ามันทำได้จริง มีเทคโนโลยีอย่างนี้ ๆ ไล่มาเป็นสเต็ปไป แล้วเราก็นำไปโพสต์ลงไปใน Kickstarter แพลตฟอร์ม ใครที่เห็นว่าไอเดียเราดี แล้วมีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นไปได้ เค้าก็จะมาเป็นพรีออเดอร์ของเรา เมื่อเราได้ทุนตามเป้าที่เราต้องการเราก็ต้องผลิต มันเป็นเรื่องของความเชื่อใจ  ความน่าเชื่อถือ 


ผลงาน Smart Terra ในเว็บไซต์ระดมทุน Kickstarter

 


เทคนิกการระดมทุนให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในแบบฉบับ Smart Terra

ด้วยไอเดียของตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะนี้ ส่งผลให้ได้รับความสนใจและสามารถระดมุทนได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน 

"พอถึงตรงนั้นพอเราโพสต์ไป เราใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เราได้ทุนมาตามเป้าที่เราต้องการ เราได้ประมาณแสนกว่าเหรียญ เพื่อที่จะมาผลิตล็อตแรก แล้วนำสินค้าของเราให้กับแบคเกอร์หรือผู้บริโภค เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ  แนะนำสำหรับคนที่ต้องการทำ Cloudfunding แพลตฟอร์มในรูปแบบของรีวอร์ดคลาวฟันดิ้ง หนึ่งต้องมีการวางแผนที่ดี ต้องมีการศึกษาในเรื่องของวิธีการทำ กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร มันไม่ต่างจากการทำโฆษณาสินค้าชิ้นนึง แต่อาจจะใช้ทุนน้อยกว่าเท่านั้นเอง และผลตอบแทนอาจจะมากกว่าที่เราตั้งใจไว้" ฉัตรพัฒน์บอกเล่าคำแนะนำสำหรับคนที่มีไอเดีย หรือต้องการพัฒนานวัตกรรมแต่ไม่มีเงินทุน


ส่วนประกอบใน Smart Terra มีอะไรบ้าง?

การทำงานในตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะ Smart Terra ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ


1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware) คือ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ จะประกอบด้วย

- ตัวเมนบอร์ด 

- LED บอร์ด ประกอบด้วย 

          - ไฟ CRI ที่มีความเข้มข้นของสีสูง เพื่อทดแทนแสงแดด 

          - ไฟตกแต่งตู้ (Ambient Light) ใช้ในการประดับตู้ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีได้ตามต้องการ

- ตัวเซนเซอร์  ซึ่งมีทั้ง เซนเซอร์ในดินและน้ำ เซนเซอร์อุณหภูมิ เซนเซอร์ควบคุมความชื้นในอากาศ

- ชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ปั๊มน้ำ พัดลม ลำโพง


แผงควบคุมด้านหลัง

 

 




ไฟตกแต่งภายในตู้

 


2. เฟิร์มแวร์ (Firmware) คือ โปรแกรมที่เขียนขึ้นเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตัวสื่อสารกับตัวซอฟต์แวร์ ซึ่งด้านหลังของบอร์ดจะมีส่วนที่เรียกว่าแฟลชโปรแกรม (Flash คือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการสร้างสื่อมัลติมีเดีย)

3. ซอฟต์แวร์ (Software)โปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่สั่งที่เขียนเป็นแอปพลิเคชันสั่งการควบคุมให้ฮาร์ดแวร์ทำงาน 


โดยขั้นตอนการทำงานของทั้ง 3 ส่วน มีดังนี้

- การประกอบชิ้นส่วน อุปกรณ์ของตู้ให้เสร็จสมบูรณ์

- จากนั้น จะเป็นการเขียนเฟิร์มแวร์หรือโปรแกรมควบคุมการทำงานของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  

- นำแอปพลิเคชันซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้น มาเชื่อมต่อกับเฟิร์มแวร์ผ่านบลูทูธ เพื่อควบคุมสั่งการหรือเล่นกับตู้ได้ตลอดเวลา


ตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง?

ขณะที่เมื่อเจาะลงไปที่การทำงานภายในตู้ จะพบว่ามีเทคโนโลยีทั้งหมด 3 ส่วน ที่ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยดูแลต้นไม้ภายในตู้แทนเรา ทั้งการสั่งฝนตกโดยมีเสียงฟ้าร้องเสมือนจริง การควบคุมความแรงลม และการปรับแต่งแสงสีได้ตามต้องการ 

1. เทคโนโลยีการทำฝนตก ซึ่งจะได้ฝนที่เป็นเม็ดเสมือนฝนจริง ไม่ใช้แค่การฉีดพ่นละอองน้ำ โดยที่การจำลองฝนตกนี้ จะมาพร้อมกับเสียงและแสง เพื่อให้เหมือนปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงเวลาฟ้าแล่บ ที่แสงจะต้องมาก่อนเสียง นอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยีที่เรียกว่า Water Cycling ที่ทำให้น้ำไม่ขังในตู้ โดยน้ำจะไหลผ่านฟิลเตอร์ที่เป็นตัวดักฝุ่นด้านล่าง แล้วน้ำจะไหลกลับไปในแท็งก์น้ำเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้น้ำใส สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 

2. ระบบลม ซึ่งด้านหลังของตู้จะมีพัดลม 1 ตัว ทำหน้าที่ดูดอากาศจากภายนอกเข้าไป เพื่อไล่ความชื้นในตู้ไม่ให้เกิดฝ้า

3. ระบบแสง จาก LED บอร์ด ที่จะให้ต้นไม้ได้รับแสงที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต 


วิธีการใช้งานและคุณสมบัติของตู้ Smart Terra 

- เริ่มจากปลูกต้นไม้ จัดสวน และตกแต่งตู้ตามที่ต้องการ

- จากนั้นเติมน้ำลงไปในแท็งก์ด้านล่างประมาณ 2 ลิตร หรือ 1 ขวดใหญ่ และทำการเทียบค่าความชื้น

- ทำการเชื่อมต่อบลูทูธ เพื่อควบคุมสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน 


โดยที่เราสามารถเล่นกับตู้นี้ได้ตามต้องการ ซึ่งเลือกได้ทั้งแสง สี รวมถึงเสียงธรรมชาติที่เลือกฟังได้ถึง 20 แบบ เช่น เสียงคลื่นทะเล เสียงในป่าฝน เสียงนกในช่วงกลางคืน เป็นต้น รวมถึงเพิ่มฟังก์ชันน้ำตก หรือหมอกได้ด้วย ซึ่งเราสามารถให้ตู้ดูแลต้นไม้แทนเราได้ โดยที่เราไม่ต้องใช้เวลากับมันมาก



ฟังก์ชันการสร้างหมอกภายในตู้


การทำน้ำตก

 


นอกจากปลูกต้นไม้ภายใน Smart Terra แล้ว ยังเลี้ยงสัตว์ได้ด้วย


ฉัตรพัฒน์ ระบุว่า "เบื้องต้นขึ้นอยู่กับความชอบของเราก่อน เราอยากจะปลูกอะไร Smart Terra สามารถปลูกต้นไม้ได้ทุกแบบ เหมือนเราปลูกต้นไม้ทั่วไป แต่แตกต่างที่ปลูกต้นไม้ทั่วไปเราต้องให้น้ำตลอดเวลา แต่ของเรานาน ๆ ให้ที 2-3 อาทิตย์ให้ที จริง ๆ แล้วชาวต่างชาติที่ซื้อเราไปนิยมไปเลี้ยงสัตว์ด้วยสิ่งที่ชื่นชอบมากก็คือกบ  ล่าสุดเลี้ยงพวกแมลง หรือสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กๆ พวกกิ้งก่า"

ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ในตู้ระบบนิเวศอัจฉริยะนี้ จะทำให้บรรดาสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นที่รักของเจ้าของ ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าไม้เสมือนเติบโตมาในธรรมชาติจริง ไม่ต้องรู้สึกโดนกักขัง 


การพัฒนาของ Smart Terra ในอนาคต?

ในอนาคตระบบนิเวศอัจฉริยะนี้จะถูกปรับการออกแบบให้ต่างไปจากเดิมหรือมุ่งสู่พื้นที่ขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น ใช้ในสมาร์ตฟาร์ม หรือเชิงพาณิชย์ รวมถึงจะมีผลิตภัณฑ์ IoT อื่นๆ จากบริษัท ฉลาด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต โดยจะเน้นเทคโนโลยี IoT (Internat of Thing) ที่นำ AI มาเสริมการทำงาน รวมถึงจะต่อยอดไปใช้ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ เช่น สมาร์ตฟาร์มในอนาคต ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทฉลาดจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้มันดีขึ้น โดยต้องการเผยแพร่ความเป็นไทยเพื่อผลักดันเทคโนโลยีของไทยให้ไปสู่ตลาดโลกให้สำเร็จ ซึ่งในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีออกมาเพิ่มเติมอีก 4 ตัว  คือ 


1. Auto blast เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ชนิด C ติดตั้งภายในท้ายกระโปรงรถ


Auto Blast 
2. Blast ball ลูกบอลฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ชนิด C ที่สามารถพกพาได้ และใช้ในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น ฆ่าเชื้อโรคในกระเป๋า

 


3. Smart wall ผนังอัจฉริยะที่สามารถจัดการกับสาย จัดเรียง และชาร์จไฟอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเดียวและสามารถสั่งการผ่านแอปพลิเคชันได้




Smart Wall

 

 

4. Smart aqua  เป็นเครื่องผสมเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล โดยใช้เทคโนโลยี IoT และ AI ในการประมวลผลให้ได้เครื่องดื่มเกลือแร่ที่เหมาะกับแต่ละบุคคลและกิจกรรมที่ทำ


Smart Aqua

 


นวัตกรรมระบบนิเวศอัจฉริยะนี้ นับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของเทคโนโลยีจากคนไทย ที่จะทำให้เราสามารถอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติได้แม้ไม่มีเวลาเดินทาง หรือมีพื้นที่จำกัด  และยังควบคุมปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว 

ถือเป็นตัวอย่างของความพยายามและมีแบบแผน จนนำไปสู่การได้รับการยอมรับ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนี่อาจจะเป็นการปูทางไปสู่การพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมไทย สู่การแข่งขันในตลาดเทคโนโลยีของโลกได้มากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง