รีเซต

สวนขวด “MOSSAIR” เครื่องฟอกอากาศและเครื่องทำความชื้นแบบตั้งโต๊ะ

สวนขวด “MOSSAIR” เครื่องฟอกอากาศและเครื่องทำความชื้นแบบตั้งโต๊ะ
TNN ช่อง16
27 กันยายน 2566 ( 16:16 )
98

มอสแล็บ (MOSSLAB) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการฟอกอากาศจากมอส นำเสนอนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศและเครื่องดูดความชื้นในรูปแบบสวนขวดให้ชื่อว่า มอสแอร์ (MOSS AIR) ซึ่งนอกจากจะช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์แล้ว ยังใช้เป็นของตกแต่งห้อง ช่วยเพิ่มความสบายตาได้อีกด้วย


ภาพจาก MOSSLAB

 

สำหรับการทำงานหลัก ๆ ของ มอสแอร์ จะใช้การเลี้ยง "มอส" หรือพืชจิ๋วสีเขียวไว้เป็นตัวฟอกอากาศ โดยด้านในขวดจะมี “กำแพงมอส” หรือแผ่นกรองอากาศที่เต็มไปด้วยมอส ทำหน้าที่ดักจับสารพิษ กำจัดฝุ่นและสารประกอบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศอย่างต่อเนื่อง กำแพงมอสนี้ ยังสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องรดน้ำเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลว่ามอสจะตาย หรือถ้ารู้สึกว่าตัวมอสแห้งเกินไป ก็สามารถฉีดสเปรย์น้ำใส่เบา ๆ ก็สามารถปลุกให้มอสเติบโตขึ้นได้ 


ภาพจาก MOSSLAB

 

ส่วนด้านหลังของกำแพงมอสสีเขียวนี้ จะเป็นส่วนที่กักเก็บน้ำ สำหรับใช้ป้อนให้กับเครื่องทำความชื้นภายในตัว ซึ่งจะเปลี่ยนอากาศให้เป็นหมอกละเอียดอ่อน ไหลวนอยู่ในตัวเครื่อง เพื่อให้ความชื้นกับผนังมอส และปล่อยออกมาตามรูระบายอากาศ เพื่อให้ความชื้นภายในห้องของเรา ซึ่งเราสามารถเปิดหรือปิดฟังก์ชันเครื่องทำความชื้นนี้ได้ เพียงแค่เลื่อนลูกบอลสีเงิน ออกจากช่องระบายอากาศบริเวณฝาเครื่อง เพื่อเปลี่ยนการใช้งานจากตัวสวนขวดฟอกอากาศธรรมดา ๆ มาเป็นเครื่องทำความชื้นได้ตามความต้องการ


ภาพจาก MOSSLAB

สำหรับแรงบันดาลใจในการเลือกใช้พืชจิ๋วอย่าง มอส มาทำหน้าที่ในการกรองอากาศนี้ เนื่องจากบริษัทมองว่า มอส เป็นพืชที่มีความสามารถในการผลิตออกซิเจนได้ดีกว่าต้นไม้ขนาดใหญ่บางชนิดหลายร้อยเท่า โดยบริษัทระบุว่าออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจเข้าไปทุกวันนี้กว่าร้อยละ 30 มาจากการผลิตของมอส และมอสยังสามารถช่วยเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในอากาศ ช่วยกำจัดอนุภาคฝุ่น และสร้างไอออนลบที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


สำหรับตัวมอสแอร์นี้ มาพร้อมพอร์ตชาร์จแบบ USB-C และแบตเตอรี่ในตัว โดยชาร์จเต็มที่หนึ่งครั้ง จะใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง และปัจจุบันเปิดวางจำหน่ายในแพลตฟอร์มระดมทุน อินดีโกโก แล้ว ในราคาพิเศษ สำหรับช่วงเริ่มต้นระดมทุน อยู่ที่เครื่องละ 79 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,900 บาท 



ข้อมูลจาก yankodesign, indiegogo


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง