โควิดขวิดทรุด! ดัชนีครัวเรือนมี.ค.ดิ่งสุดรอบ6ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ มาตรการล็อกดาวน์ของต่างประเทศ รวมถึงมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวของรัฐบาลไทย ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือน มี.ค.63 โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 74 เดือน จากระดับ 37.3 ในเดือน ก.พ. 63 มาอยู่ที่ระดับ 33.1 ในเดือน มี.ค.63
สาเหตุจากความกังวลของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากต่อประเด็นเรื่องรายได้และการจ้างงาน เงินออม และค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้สิน) ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
"ดัชนี KR-ECI ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในเดือนมี.ค.63 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสำรวจจัดทำก่อนการออกมาตรการดูแลเยียวยาต่างๆ ของรัฐบาลที่ ครม. อนุมัติไปในวันที่ 7 เม.ย.63 ทำให้ยังคงต้องติดตามดัชนี KR-ECI ในเดือนหน้าที่จะมีการสะท้อนความเห็นต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ"บทวิเคราะห์ ระบุ
ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมุมมองในปัจจุบัน จากระดับ 36.5 ในการสำรวจช่วงเดือน ก.พ.63 มาอยู่ที่ระดับ 32.6 ในการสำรวจช่วงเดือน มี.ค.63 ชี้ให้เห็นถึงมุมมองของครัวเรือนที่เต็มไปด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของตนเองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือน เม.ย.-มิ.ย.63) โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) และเงินออมของตนเอง
"ภาครัฐออกมาตรการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยกันทั้งหมด 3 ระยะ เช่น การให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน, การคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าและประปา, การให้ใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านเรือนที่มิเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 5 แอมป์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็น่าจะพอมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือนไทยได้บางส่วน แต่ยังต้องติดตามผลของมาตรการเหล่านี้ต่อไปในระยะข้างหน้า"บทวิเคราะห์ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 63 จะเผชิญโจทย์ที่ยาก ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ทั้งภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบหนักต่อครัวเรือนภาคเกษตรในช่วงไตรมาส 2/63 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีโอกาสวนกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง หากยังไม่มีประเทศไหนคิดค้นวัคซีนสำเร็จ ทั้งนี้ มาตรการดูแลเยียวยาที่ภาครัฐออกมาทั้ง 3 ระยะก็น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้างบางส่วน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการปรับตัวทางด้านการจ้างงานขององค์กรและธุรกิจที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมี.ค.63 พบว่าองค์กรและธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจ พยายามประคับประคองสถานะการมีงานทำของลูกจ้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขณะที่รายได้ของครัวเรือนลดลง ท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงการทำประกันโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,223.2 บาท/เดือนสำหรับครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 706.5 บาท/เดือนสำหรับครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่ 65.3% มีเงินออมลดลงจากเดือนก่อนหน้า หลังดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ