4 แบงก์รัฐแห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ หลังกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย

4 แบงก์รัฐแห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยปรับลดลงสูงสุด 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้า หลังจากที่ กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
#ทันหุ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิขย์ของรัฐหลายแห่งได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้นยเงินกู้ลง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ บางสถาบันการเงินของรัฐ คือ ออมสิน และ ธอส.ขอคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR เอาไว้ ด้วยเหตุผลว่า MRR ของธนาคารปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในระบบ
โดยธนาคารออมสินประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR)และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี MOR ลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยMLR ลดมาเหลือ 6.65%และ MOR ลดมาเหลือ 6.495% ให้มีตั้งแต่ 5 มีนาคมถึง 31 สิงหาคมนี้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าวว่า เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และช่วยกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจ ธนาคารออมสินจึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว ขณะที่ ดอกเบี้ย MRR ยังคงเดิมที่ 6.595%
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% โดย MOR ลง 0.25 %เหลือ 6.625 %ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.15%ต่อปี เหลือ 6.725%ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่ 7 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลง0.10% ลงมาเหลือ6.150% MOR ลด 0.25%ลงมาเหลือ 6.150% ให้มีผลตั้งแต่ 5 มีนาคม ถึง 31 สิงหาคมนี้ ส่วน MRR คงไว้ในอัตราเดิมที่ 6.545%
ด้านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยprime rate ที่เทียบเท่ากับ MRR ลง 0.10% ทำให้อัตรา prime rate เหลือ ที่ 6.25% มีผลตั้งแต่ 10 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ สามารถปรับตัวรับมือปัจจัยท้าทายและแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก