รีเซต

UTPออเดอร์ไหลเข้าพรึ่บ ลุยมาร์จิ้นสูง-ขยายผลิต

UTPออเดอร์ไหลเข้าพรึ่บ ลุยมาร์จิ้นสูง-ขยายผลิต
ทันหุ้น
8 กรกฎาคม 2565 ( 06:41 )
183

#UTP #ทันหุ้น – UTP ชูดีมานด์ผิวทำกล่องกระดาษเพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ครึ่งหลังปี 2565 ขยายตัวเด่น หลังลูกค้าทยอยส่งออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ได้อานิสงส์ส่งออก คาดปริมาณการผลิตและจำหน่ายในไตรมาส 3-4/2565 รวมมากกว่า 1.32 แสนตัน อัพเป้ารายได้ปีนี้แตะ 5.7-5.9 พันล้านบาท เดินหน้าลงทุนขยายกำลังผลิตเตรียมเยื้อกระดาษหนุนผลงาน 3 ไตรมาสแรกปี 2566 พุ่งทะยานต่อ

 

นายวัชชระ  ชินเศรษฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UTP ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์ ประเมินภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังปี 2565 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เป็นผลมาจากแนวโน้มความต้องการใช้ผิวทำกล่องกระดาษเพื่อบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มากขึ้น ตามปริมาณการจำหน่ายสินค้าทั้งภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

*กำลังผลิตสูง 95%

 

ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับคำสั่งซื้อใหม่จากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟต์สำหรับทำผิวกล่อง (Kraft Liner Board) ที่ให้มาร์จิ้นที่สูงกว่า 15-20% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟต์สำหรับทำลอนลูกฟูก (Corrugating Medium) ให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 40% ต่อ 60%

 

สำหรับราคาต้นทุนวัตถุดิบทั้งเศษกระดาษ ถ่านหิน และแป้งมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นในการปรับราคาขายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งจะเป็นผลบวกในแง่ของยอดขายที่จะเติบโตขึ้นกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนอีกด้วย

 

ขณะที่ในเชิงปริมาณจำหน่ายอาจปรับตัวลดลงจากกำลังการผลิตที่บริษัทมีในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบันบริษัทมีการใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่ระดับสูงมากกว่า 92-95% แต่ด้วยคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่มีอยู่ในมือทำให้คาดการณ์คร่าวๆ ว่าในช่วงไตรมาส 3-4/2565 จะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 67,000 หมื่นตัน และ 65,000 ตัน หรือคิดเป็นรายได้ที่ประมาณ 1,475 ล้านบาท และ 1,430 ล้านบาท ตามลำดับ

 

จากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้บริษัทได้มีการปรับเพิ่มการเติบโตของรายได้ปี 2565 ใหม่เป็น 5,700-5,800 ล้านบาท จากช่วงต้นปีที่วางไว้ 4,500 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันนั้นบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเตรียมเยื้อกระดาษให้เพิ่มอีก 200 ตันต่อวัน เป็น 1,000 ตันต่อวัน จากเดิมที่ทำได้ราว 800 ตันต่อวัน คาดจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในไตรมาส 1/2566 ทำให้คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2566 จะอยู่ที่ 70,000 ตัน, 73,000 ตัน และ 75,000 ตัน ตามลำดับ และคาดว่ารายได้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกในปี 2566 จะทำได้ที่ระดับ 1,540 ล้านบาท, 1,606 ล้านบาท และ 1,650 ล้านบาท ตามลำดับ

 

สำหรับแนวโน้มราคาเศษกระดาษในประเทศขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 8,200-8,300 บาทต่อตัน และในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจทรงตัวในระดับสูงที่ราว 9,000 บาทต่อตัน ส่วนราคาเศษกระดาษนำเข้าในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทซื้อมาในระดับราคา 265-270 ดอลลาร์ต่อตัน คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะทรงตัวในระดับดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ การนำเข้าเศษกระดาษจะมีการเจรจาซื้อขายล่วงหน้าแบบรายไตรมาสทำให้สามารถล็อกราคาไว้ได้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการซื้อเศษกระดาษในประเทศกว่า 60% และนำเข้าราว 40%

 

"ต้องยอมรับว่าในไตรมาสแรกปี 2565 นี้ เรามีการผลิตและจำหน่ายสูงกว่าปกติ ทำให้ปริมาณวัตถุดิบคงคลังปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายในช่วงไตรมาส 2/2565 อาจไม่สูงเท่าไตรมาสแรก แต่เชื่อว่าจะยังคงมีการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนแน่นอน ตามดีมานด์การใช้บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในตอนนี้เราได้มีการปรับเพิ่มการสต็อกวัตถุดิบไว้ที่ประมาณ 30-45 วันแล้ว" นายวัชชระ กล่าว

 

**Q2 กำไรโต

 

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส ( ประเทศไทย ) จำกัด ระบุว่า ทางผู้บริหารปรับเพิ่มรายได้ปี 2565 นี้ ขึ้นเป็น 5.7 พันล้านบาท (จากเดิม 5.2-5.5 พันล้านบาท) ทั้งนี้อุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่ง ทั้งจากภาคค้าปลีกและธุรกิจเกษตร, ยอดขายออนไลน์เติบโตต่อ และใช้บรรุภัณฑ์กระดาษแทนพลาสติกมากขึ้นเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ GPM ปี 2565 ถูกกดดันจากต้นทุนเศษกระดาษ ต้นทุนถ่านหิน และค่าขนส่งสูง คาด GPM ปีนี้ไว้ที่ 22% ลดลงจากปี 2564 ที่ 23.7%

 

ราคาเศษกระดาษในไตรมาส 2/2565 เพิ่มเป็น 8.9 บาทต่อกิโลกรัม จาก 7.8 บาทต่อกิโลกรัมในไตรมาส 1/2565 ส่วนราคาเศษกระดาษในต่างประเทศทรงตัวสูงที่ 272 ดอลลาร์ต่อตันในไตรมาส 2/2565 เทียกับ 275 ดอลลาร์ต่อตันในไตรมาส 1/2565 เพราะอุปทานจำกัด (คอนเทนเนอร์ตึงตัว) บริษัทใช้เศษกระดาษในประเทศ 60% และนำเข้า 40% จาก EU, US และ ญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ในส่วนของโครงสร้างต้นทุน ประกอบด้วย เศษกระดาษ 60%, ถ่านหิน 17% และอื่นๆ 23%

 

คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2565 จะมีการเติบโตดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เป็น 260-280 ล้านบาท จากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ส่วน GPM คาดไว้ที่ 22% ลดเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน และเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า จากปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้ทางฝ่ายแนะนำ "ถือ" ให้ราคาพื้นฐาน 18.50 บาท อิง P/E ปีนี้ 11.5 เท่า (Mean+1SD) ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565 ขึ้น 9% สะท้อนยอดขายที่ดีกว่าคาดการณ์เดิมทำให้กำไรสุทธิปี 2565-2566 เติบโต 13% และ 2% ตามลำดับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง