รีเซต

สมรภูมิเดลิเวอรี่ไทย 130,000 ล้านแข่งดุ หลัง Foodpanda โบกมือลา l การตลาดเงินล้าน

สมรภูมิเดลิเวอรี่ไทย 130,000 ล้านแข่งดุ หลัง Foodpanda โบกมือลา l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2568 ( 11:40 )
15

ข้อมูลจาก โมเมนตัม เวิร์ก พบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา มูลค่าการใช้จ่าย ด้านการจัดส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ของไทย อยู่ที่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเงินกว่า 130,000 ล้านบาท เป็นปีที่ตลาดกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหลังจากทรงตัว หรือแทบจะไม่เติบโตเลยในปีก่อนหน้า โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 120,000 ล้านบาท

ตามข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าว ยังพบว่า ตลาดในประเทศไทย มีผู้เล่นอยู่ 5 ราย โดย 2 รายใหญ่คือ Grab และ Line Man Wongnai รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 90 จากทั้งหมด ซึ่ง Grab มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 46 ส่วน Line Man Wongnai จะมีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 40 

นอกจากนี้ ยังมี ช้อปปี้ ฟู้ด ที่มีสัดส่วนร้อยละ 7 ส่วน ฟู้ดแพนด้า มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 และ โรบินฮู้ด มีส่วนแบ่งตลาดในปี 2567 ที่ร้อยละ 2 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุน และการแข่งขันด้านราคา และโปรโมชัน ทำให้การสร้างผลกำไรในภาคธุรกิจนี้ เป็นไปได้ยากยิ่ง จนสั่นคลอนการดำเนินธุรกิจต่อไป 

เช่น โรบินฮู้ด ซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด คือช่วงปี 2563 โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้สนับสนุนหลัก ผลประกอบการย้อนหลังตลอด 5 ปี และมีการเปลี่ยนมือเจ้าของไปเป็นของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในปีที่ 5 นั้น พบว่ามีผลประกอบการขาดทุนทุกปี และขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกด้วย 

โดยในปีแรก ปี 2563 บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด รายงานผลขาดทุน อยู่ที่ 87 ล้านบาท

ต่อมาปี 2564 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น กว่า 1,300 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนอีก 1,900 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนกว่า 2,100 ล้านบาท

ส่วนปีล่าสุด 2567 ยังมีการขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่ง โรบินฮู้ด รายงานผลขาดทุนเพิ่มขึ้น เป็นกว่า 3,100 ล้านบาท

ในปีที่ 5 โรบินฮู้ด ประกาศจะยุติการให้บริการ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 แต่สุดท้ายยังเดินหน้าต่อ โดยเปลี่ยนมือเจ้าของไปเป็นบริษัท ยิบอินซอย เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ด้วยเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท 

เช่นเดียวกันกับ ฟู้ดแพนด้า ของ เดลิเวอรี่ ฮีโร่ จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารเจ้าแรกจากต่างประเทศ ที่เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย ทั้งยังสามารถขยายการบริหารครบทั้ง 77 จังหวัด

แต่ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้า รายงานผลขาดทุนต่อเนื่องทุกปี จนมีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 13,000 ล้านบาท และจากการตรวจสอบ ผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี มีการขาดทุนสะสมเป็นหลักพันล้านบาทขึ้นไปต่อเนื่องทุกปีอีกด้วย 

โดยปี 2562 ฟู้ดแพนด้า ขาดทุนเป็นจำนวน 1,260 ล้านบาท และ ปี 2563 ขาดทุนอีก 3,590 ล้านบาท  ปี 2564 ขาดทุนเพิ่มเป็น 4,720 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุน 3,250 ล้านบาท และปี 2566 ที่มีการรายงานล่าสุด ฟู้ดแพนด้า ขาดทุนเป็นจำนวน 522 ล้านบาท

แต่ก่อนการยุติให้บริการในประเทศไทย ของ ฟู้ดแพนด้า ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ล่าสุด ฟู้ดแพนด้า และ ยิบอินซอย ประกาศข้อตกลงเชิงกลยุทธ์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านลูกค้า ร้านอาหาร และไรเดอร์ ไปสู่ โรบินฮู้ด ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว ไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ แต่จะมีลักษณะ เป็นความร่วมมือในการสื่อสารไปยังลูกค้า และแนะนำให้หันมาใช้งานแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด แทน

โดยคุณ มรกต ยิบอินซอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโรบินฮู้ด กล่าวด้วยว่า เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ โรบินฮู้ด ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถรองรับการใช้งานภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวต่างชาติที่เคยใช้บริการของฟู้ดแพนด้า

พร้อมกับเปิดเผยถึงแผนและเป้าหมายในการขยายการให้บริการ โดยจะขยายออกไปสู่หัวเมืองหลักให้ครอบคลุม ภายในสิ้นไตรมาส 4 ของปี 2568 นี้ จากปัจจุบันที่ โรบินฮู้ด เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก

นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในตลาดที่จะรุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นที่เหลืออยู่ 4 รายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ, ไลน์แมน วงใน, ช้อปปี้ ฟู้ด และ โรบินฮู้ด ที่จะมีโอกาสขยายฐานลูกค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดจากดีลดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คุณยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์ แมน วงไน ให้ความเห็นถึงการถอนตัวออกจากประเทศไทย ของ ฟู้ดแพนด้า ว่า จะทำให้อุตสาหกรรม ฟู้ด เดลิเวอรีของไทย เข้าสู่การแข่งขันแบบ ดูโอ โพลี (Doupoly) อย่างชัดเจน และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้เล่น แต่โครงสร้างตลาดยังคงมีเสถียรภาพ และการแข่งขันยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม 

และในสถานการณ์เช่นนี้ ยังมองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจเดลิเวอรี โดยเปลี่ยนจากสงครามราคา ไม่สู่สงครามคุณภาพ ซึ่งผู้เล่นที่เหลือ จะสามารถจัดสมดุลระหว่างคุณภาพ บริการ และการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น เปิดโอกาสในการทำกำไรอย่างยั่งยืน และมีทรัพยากรเพียงพอในการลงทุนพัฒนาบริการใหม่ ๆ มากขึ้น 

สำหรับ ยิบอินซอย นับตั้งแต่เกิดดีล ที่เป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ด้วยการเข้าลงทุนใน โรบินฮู้ด ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีตัวเลขขาดทุนสะสมหลายพันล้าน ในท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง และล่าสุด จะมีการทุ่มเม็ดเงินบางส่วนในการเปิดรับฐานลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์ จากแพลตฟอร์ม ฟู้ดแพนด้า ที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

จึงถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำกำไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณ มรกต ให้สัมภาษณ์ไว้ ก่อนหน้านี้ กับสื่อออนไลน์ มาร์เก็ตเทียร์ โดยบอกว่า โรบินฮู้ด จะสามารถทำกำไรได้ในปีนี้ ซึ่งหลังจากเข้าไปถือหุ้นในโรบินฮู้ด ก็ได้เข้าไปปรับปรุงด้านการจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นหลักที่เธอพูดถึง ก็คือ เลิกเผาเงิน แต่จะเน้นควบคุมต้นทุนเป็นหลัก จะไม่เล่นเกม แจกโปร เหมือนแพลตฟอร์มอื่น ไม่แข่งหั่นราคา ไม่เผาเงินไปกับการทำแคมเปญใหญ่ ซึ่งเชื่อว่า เมื่อเลิกแจกโปรโมชัน จะทำให้ต้นทุนลดลงอย่างชัดเจน

และเน้นการดำเนินงานในเชิงธุรกิจ โดยเรียกเก็บค่า จีพี จากร้านค้าในอัตราร้อยละ 28 ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่ทาง SCBX ทำในเชิง CSR ที่ไม่มีการเรียกเก็บ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังถือว่าต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่น และนั่นจะทำให้มีการเติบโตอย่างค่อยเป็น ค่อยไป และแข็งแรง 

เธอบอกด้วยว่า สิ่งที่กำลังพยายามทำ คือเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ฟังเสียงจากลูกค้าและไรเดอร์ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ตอบโจทย์ รวมถึงการรักษามาตรฐานการบริการที่ดี อย่างที่ทำมาตลอด

โดยไม่ได้แข่งขันกับใคร แต่เป็นการสร้างทางของตัวเอง จึงชัดเจนว่าโรบินฮู้ด ไม่ใช่แอปสำหรับ แมส ที่อาจจะมองแค่เรื่องของราคาเป็นหลัก แต่เป็นแอปสำหรับคนที่เห็นคุณค่าของความยั่งยืน ต่อลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์

นอกจากนี้ โรบินฮู้ด ยังถือเป็น ธุรกิจของยิบอินซอยที่เข้าถึงผู้บริโภคแบบ B2C เป็นครั้งแรก ในตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี ที่ผ่านมา 

โดย ยิบอินซอย เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร เทคโนโลยีระดับสูงด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีด้านพลังงานและการเกษตร รวมถึงธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพทางการค้า การลงทุน

การเข้าไปบริหาร โรบินฮู้ด ก็เพื่อต้องการสร้างนิเวศทางธุรกิจที่ดี ของแพลตฟอร์ม Robinhood ให้อยู่คู่กับเศรษฐกิจและสังคมไทย แต่สำหรับอนาคตข้างหน้า โรบินฮู้ดยังจะมุ่งเน้นการพัฒนาโมเดลธุรกิจ เทคโนโลยี และบริการต่าง ๆ โดยยึดหลักของการดูแลทุกพันธมิตรในระบบนิเวศอย่างดี และจริงใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง