เดินหน้า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ปฐมบทเส้นทางยุทธศาสตร์ใหม่
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มประกอบไปด้วยเส้นทาง 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และฝั่งตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) โดยโครงการฝั่งตะวันออกเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใต้ดินและยกระดับ ระยะทางรวมประมาณ 22.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานีและสถานียกระดับ 7 สถานี มูลค่าการลงทุนรวมราว 1.13 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 9,625 ล้านบาท ค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธาราว 82,900 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนและค่าที่ปรึกษางานระบบราว20,750ล้านบาท
และได้เริ่มการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี2560 โดยมีภาครัฐเป็นผู้ลงทุนในส่วนค่าเวนคืนที่ดินและค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธา ซึ่งในภาพรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 งานโยธาคืบหน้าแล้ว 74.38% เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 2.45%
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินทั้งหมดระยะทางประมาณ 13.4 กิโลเมตรและมีสถานีใต้ดิน 11 สถานี มูลค่าการลงทุนรวมราว 1.2 แสนล้านบาท (แบ่งเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 14,660 ล้านบาท ค่างานโยธาและค่าที่ปรึกษางานโยธาราว 96,000 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนและค่าที่ปรึกษางานระบบราว 11,370 ล้านบาท)
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกได้มีการยื่นประมูลตามแผนที่กำหนดไว้เมื่อวานนี้ ( 9 พ.ย.) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดให้เอกชนทุกรายที่สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการเข้ายื่นเอกสารซองประกวดราคา ซึ่งเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาและมีสิทธิ์ในการยื่นข้อเสนอมีจำนวน 10 รายประกอบไปด้วย
บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) // บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) // บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) // บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) //บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) //บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) //บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) //บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) // ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด // บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด
ปรากฏว่า มีบริษัทยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ 4 ราย จากเอกชนที่ซื้อเอกสารข้อเสนอทั้งหมด10 ราย โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM มายื่นข้อเสนอเป็นรายแรก ตามด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR)ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือBTSและบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSTECON
ทั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมายที่คาดการณ์กันว่า โครงการนี้จะเป็นการประมูลที่แข่งขันกันระหว่าง2ขั้วคือBEMและBTS
สำหรับการยื่นข้อเสนอในโครงการมีข้อกำหนดในเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ผู้ที่เป็นลีดเดอร์ในการยื่นข้อเสนอมีข้อกำหนดจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์จัดหา บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง รักษาระบบรถไฟฟ้าภายในระยะเวลา 25 ปีนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีระยะเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ในประเทศไทย
ส่วนเกณฑ์การประเมินเอกชนจะยึดตามเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน หรือเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน คงต้องรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดด้วย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกเอกชน เพราะ รฟม.มีกำหนดเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ด้านคุณสมบัติ ในวันที่ 23 พ.ย.2563 ส่วนข้อเสนอด้านเทคนิค และด้านราคานั้นจะดำเนินการหลังจากพิจารณาซอง 1 ไปอีกราว 1 – 2 เดือน
ทั้งนี้ หลังจากประกาศเอกชนผู้ชนะประมูลแล้ว เม็ดเงินลงทุนกว่า 1.28 แสนล้านบาทจะไหลเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจที่ปรึกษาการก่อสร้าง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจระบบรถไฟฟ้า ธุรกิจขบวนรถไฟฟ้า ซึ่งจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในการซื้อขายสินค้าและบริการ การจ้างงานในธุรกิจเหล่านี้ รวมถึงผลบวก (spillover effect) ต่อธุรกิจอื่นๆ ก่อนที่จะทำการเริ่มเดินรถส่วนตะวันออกในปี 2567 และทำการเดินรถทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกในปี 2570
อย่างไรก็ดี SCB EIC หรือ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ภาครัฐและเอกชนผู้เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ควรมีการพิจารณา 3 ประเด็นสำคัญเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงการ ได้แก่
1.การพัฒนาการเชื่อมต่อบริเวณสถานีจุดตัดกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ และระบบขนส่งคมนาคมในรูปแบบอื่นๆด้วยลักษณะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีสถานีจุดตัดมากมายจึงมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก การพัฒนาโครงการจึงต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนเส้นทางโดยสารให้มีความสะดวก ไม่สร้างความสับสนให้แก่ผู้โดยสาร และการวางระบบการเชื่อมต่อกับการขนส่งรูปแบบอื่น เช่น รถประจำทาง เรือ ควรมีการสอดประสานกันทั้งในด้านจุดขึ้น/ลงพาหนะและตารางเวลาเดินรถ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง
อีกทั้งการวางแผนระบบตั๋วร่วม (common ticket) ในอนาคตที่ภาครัฐและผู้รับสัมปทานควรมีการวางแผนเพื่อใช้ตั๋วโดยสารใบเดียวในการเดินทาง ทั้งกับรถไฟฟ้าทุกเส้นทางและการขนส่งรูปแบบอื่นๆ รวมถึงยังต้องเตรียมพร้อมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม (common fare) ที่เหมาะสม
ซึ่งในปัจจุบันโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร (fare structure) ของรถไฟฟ้าประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ 1. ค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง และ 2.ค่าโดยสารที่ผันแปรตามระยะทาง ซึ่งการมีจุดเชื่อมต่อกับรถฟ้าเส้นทางอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้การกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ควรมีการร่วมพิจารณากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสาย อื่นๆ เพื่อกำหนดราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้โดยสาร