‘กยท.’เตรียมสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางหลังโควิดระบาดความต้องการพุ่ง
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.จึงเตรียมร่วมทุนกับ สถาบันเกษตรกร และเอกชน ผู้ผลิตถุงมือยางพารา เพื่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยาง ถุงมือทางการแพทย์ วงเงิน 500 ล้านบาท กำลังการผลิต 1,800 ล้านชิ้นต่อปี จากผลผลิตทั่วโลกประมาณ 2.28 แสนล้านชิ้น มาเลเซียผลิตได้มากสุดจำนวน 1.36 แสนล้านชิ้นต่อปี ความต้องการใช้ทั่วโลก ปีละ 8 ชิ้นต่อคนต่อปี แต่ขณะนี้ทั่วโลกผลิตได้เพียง 4 ชิ้นต่อคนต่อปี จึงเชื่อว่าหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป ความต้องการใช้ถุงมือยางจะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สัดส่วนการตั้งการลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางพารา ขณะนี้ยังไม่สรุปสัดส่วนการลงทุน แต่ ที่ตั้งใจตามแผนการตั้งโรงงาน จะไม่อยากให้โรงงานที่ร่วมลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ อยากให้เป็นการลงทุนในรูปของเอกชน ซึ่ง กยท.สามารถดำเนินการได้ เพราะมีหน่วยงานที่สามารถทำธุรกิจได้ และกยท.มีงบประมาณในการวิจัยและพัมนาประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ในอดีตมีการพัฒนาและวิจัยเพื่อการเพิ่มผลผลิต แต่จากนี้จะนำงบประมาณนี้ไปใช้ในการวิจัยและพัมนาผลิตภัณฑ์ หรือการผลิตขั้นปลายของผลผลิตจากยางพารา เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การส่งออกยางพาราที่ตลาดส่งออกของไทยถูกปิด ไม่สามารถส่งออกได้ หรือส่งออกได้ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อาทิ ตลาดหมอนยางพาราปกติ มีการผลิตเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวจีน แต่เมื่อเกิดไว้รัสโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ หมอนยางพาราจากสถาบันเกษตรกร จำนวนประมาณ 50,000 ใบ ขายไม่ได้ กยท.จึงดำเนินโครงการจำนำหมอนยางพารา โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้กับผู้ผลิต วงเงินประมาณ 11 ล้านบาท โดยใช้หมอนค้ำประกันเงินกู้ หากผู้ผลิตหรือสถาบันเกษตรกรสามารถขายหมอนได้ ก็นำเงินมาคืนเงินกู้ได้