รีเซต

'กยท.'​ เล็งขอ 3.5 หมื่นล้าน ผุดประกันราคายางเฟส 2 หวังชะลอผลกระทบโควิด

'กยท.'​ เล็งขอ 3.5 หมื่นล้าน ผุดประกันราคายางเฟส 2 หวังชะลอผลกระทบโควิด
มติชน
11 เมษายน 2563 ( 07:00 )
284

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดกยท.) เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ผ่านโครงการฝากยางไว้ที่บ้าน ต้านภัยโควิด ที่ กยท. ได้เสนอเป็นมาตรการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยางจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเข้ารับประกันรายได้ให้ชาวสวนยางพารา ที่ราคายางพาราไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.)

ทั้งนี้ กยท.ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​เกษตรและสหกรณ์ พบชาวสวนกำลังเดือดร้อนจาก สถานการณ์โควิด-19 ไม่ต่างจากประชาชนคนไทย ในกลุ่มอื่นๆทั่วประเทศ จึงพิจารณาช่วยเหลือชาวสวนยาง ตามแนวทางเดิมเพื่อให้ชาวสวนสามารถมีรายได้เพิ่มในช่วงวิกฤต แต่ต้องนำโครงการฯ ไปยังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นการเร่งด่วนและขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบประมาณจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของกระทรวงการคลัง

นายประพันธ์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม และจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้ชาวสวนยางในเดือนเมษายนนี้ จะถอดแบบจาก โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 เพื่อสามารถจ่ายเงินส่วนต่าง ให้กับเกษตรกร โดยระยะที่ 1 มีเกษตรกรที่มีบัตรสีเขียวและสีชมพูรวม 1,711,252 ราย พื้นที่สวนยางรวม 17,201,391 ไร่ ได้ รับสิทธิรับเงินส่วนต่างประกันรายได้ ตามชนิดของยางพารา โดยชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่เกิน 25 ไร่ต่อราย

“โครงการฯ ระยะที่ 2 จะใช้เงินมากกว่าระยะที่ 1 ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพราะจากราคายางพาราที่ตกต่ำทำให้ส่วนต่างที่คิดว่า ภาครับต้องจ่ายชดเชยจะสูงขึ้น เพราะราคารับประกันกำหนดไว้ที่ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม และจากการสำรวจเกษตรกรล่าสุด ทะเบียนเกษตรกรชาวสวนเพิ่มขึ้นประมาณ 50,000 ราย ทำให้ต้องมีการเพิ่มงบประมาณมากขึ้น และในส่วนของการดำเนินในระยะที่ 1 จะสิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายคือ เมษายนนี้ หากสามารถดำเนินการทัน ระยะที่ 2 จะสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกเดือนจนสิ้นสุดโครงการ” นายประพันธ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง