รีเซต

ยานสำรวจระบบสุริยะ 2 ลำโคจรเฉียด ดาวศุกร์ อาทิตย์นี้

ยานสำรวจระบบสุริยะ 2 ลำโคจรเฉียด ดาวศุกร์ อาทิตย์นี้
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 18:18 )
119
ยานสำรวจระบบสุริยะ 2 ลำโคจรเฉียด ดาวศุกร์ อาทิตย์นี้

เฟชบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.ได้เขียนบทความ ยานสำรวจระบบสุริยะ 2 ลำกำลังจะเฉียดใกล้ดาวศุกร์ในอาทิตย์นี้ โดยระบุว่า

 

ยานสำรวจอวกาศ 2 ลำ กำลังมุ่งหน้าสู่ดาวศุกร์เพื่อเฉียดเข้าใกล้ดาวศุกร์ครั้งที่สอง และอาศัยความโน้มถ่วงของดาวศุกร์ในการปรับแนวโคจรของยาน ได้แก่ #ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ (เฉียดใกล้ดาวศุกร์ในวันที่ 9 ส.ค.) และ #ยานเบปีโคลอมโบ (เฉียดใกล้ดาวศุกร์ในวันที่ 10 ส.ค.) โดยยานทั้งสองลำนี้มีแผนการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างเฉียดใกล้ดาวศุกร์ รวมถึงแผนการสังเกตการณ์ดาวศุกร์ร่วมกับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น


#การเฉียดใกล้ดาวศุกร์ของยานโซลาร์ออร์บิเตอร์

 

ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ (Solar Orbiter) จะเข้าใกล้ดาวศุกร์ที่ระยะ 7,995 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาวศุกร์ ในเวลา 11:42 น. (เวลาที่ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินได้รับสัญญาณ ตามเวลาประเทศไทย) ก่อนที่ยานลำนี้จะมุ่งหน้าเข้าใกล้โลกในวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อปรับวงโคจรของยานในขั้นต่อไป

 

การเฉียดเข้าใกล้ดาวศุกร์อีก 5 ครั้งในปีต่อ ๆ ไปของยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ ช่วยปรับวงโคจรของยานให้มีมุมเอียงของระนาบวงโคจรมากขึ้น จนยานสามารถสังเกตการณ์พื้นที่บริเวณขั้วของดวงอาทิตย์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียงยานยูลิสซิส (Ulysses) ที่เป็นยานโคจรรอบเพื่อสำรวจดวงอาทิตย์จากระยะไกล (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพฤหัสบดี) แต่ยานยูลิสซิสนั้นไม่มีกล้องถ่ายภาพ ขณะที่ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์มีกล้องถ่ายภาพและสำรวจดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้กว่า ทำให้ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์สามารถให้ข้อมูลภาพจากบริเวณขั้วของดวงอาทิตย์ได้

 

อย่างไรก็ดี กล้องถ่ายภาพส่วนใหญ่ที่ติดไปกับยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจลมสุริยะโดยตรง ดังนั้น กล้องเหล่านี้จะไม่สามารถถ่ายภาพดาวศุกร์ระหว่างเฉียดใกล้ได้ ยกเว้นกล้อง SoloHI ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพขาวดำแบบมุมกว้างในช่วงแสงที่ตามองเห็น ที่จะถ่ายภาพด้านมืดของดาวศุกร์ระหว่างยานเฉียดใกล้ดาว#การเฉียดใกล้ดาวศุกร์ของยานเบปีโคลอมโบ

 

ส่วนยานเบปีโคลอมโบ (BepiColombo) จะเข้าใกล้ดาวศุกร์ที่ระยะเพียง 550 กิโลเมตร ในวันที่ 10 สิงหาคม เวลา 20:48 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เพื่ออาศัยความโน้มถ่วงของดาวศุกร์ชะลออัตราเร็วในการปรับเส้นทางสู่วงโคจรของดาวพุธ ก่อนที่ยานลำนี้จะเฉียดใกล้ดาวพุธในวันที่ 1 ตุลาคม

 


การเฉียดใกล้ดาวศุกร์ของยานเบปีโคลอมโบครั้งนี้มีระยะห่างจากดาวศุกร์ที่ถือว่าใกล้มาก ซึ่งยานสำรวจที่เคยเข้าใกล้ดาวศุกร์ในระดับนี้ลำล่าสุดคือยานวีนัสเอ็กซ์เพรส (Venus Express) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ในช่วงท้ายภารกิจก่อนจบลงในปี ค.ศ.2014 ซึ่งการสำรวจดาวศุกร์ในระยะที่ใกล้มากจะช่วยให้ยานสามารถศึกษาบรรยากาศชั้นบนของดาวศุกร์

 


ยานเบปีโคลอมโบจะถ่ายภาพดาวศุกร์ฝั่งที่ได้รับแสงอาทิตย์ ด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น MERTIS เพื่อศึกษาบรรยากาศดาวศุกร์ในระดับลึกลงไปจากยอดเมฆชั้นบน และกล้อง MCAMs ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพเพื่อใช้นำทางและตรวจสภาพของยาน รวมถึงยานจะตรวจวัดสนามแม่เหล็กและอนุภาคมีประจุบริเวณที่บินเฉียดผ่าน และจะใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่พัฒนาโดยประเทศอิตาลีที่สามารถวิเคราะห์โครงสร้างภายในของดาวศุกร์โดยการตรวจวัดแรงโน้มถ่วงได้

 


#ยานอากัตสึกิที่กำลังโคจรรอบดาวศุกร์ และการศึกษาสนามแม่เหล็กของดาวศุกร์


ขณะที่ยานอากัตสึกิ (Akatsuki) ยานสำรวจของประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งไปสำรวจดาวศุกร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ก็จะร่วมมือในการสังเกตการณ์ดาวศุกร์ระหว่างที่ยานทั้ง 2 ลำบินเฉียดด้วย โดยขณะนี้ยานกำลังสังเกตการณ์ดาวศุกร์จากระยะที่ไกลกว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่ยานอากัตสึกิอยู่ห่างจากดาวศุกร์มากที่สุด

 


ดาวศุกร์นั้นแตกต่างจากโลกตรงที่ดาวศุกร์ไม่มีสนามแม่เหล็กที่ขับเคลื่อนจากการหมุนวนของของเหลวภายในตัวดาว เมื่อลมสุริยะ (กระแสอนุภาคมีประจุที่ดวงอาทิตย์แผ่ออกมา) ทำอันตรกิริยากับบรรยากาศชั้นบนของดาวศุกร์จะเหนี่ยวนำให้เกิดสนามแม่เหล็ก และในบริเวณที่สนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กในบรรยากาศชั้นบนของดาวศุกร์ จะเป็นพื้นที่เรียกว่า “Bow shock” ซึ่งเหยียดยาวออกไปทางด้านหลังดาวศุกร์เกิดเป็น Magnetotail ซึ่งยานโซลาร์ออร์บิเตอร์และยานเบปีโคลอมโบจะบินผ่านเข้าไปในบริเวณดังกล่าว เป็นโอกาสที่ดีในการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำของดาวศุกร์
ยานทั้งสองลำนี้บรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสนามแม่เหล็กและอนุภาคมีประจุติดไปด้วย นักวิทยาศาสตร์จึงคาดหวังว่าจะได้รับข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์ที่ได้จากยานทั้งสองลำตั้งแต่เวลาก่อนที่ยานจะฝ่าผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็กของดาวศุกร์ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากยานเหล่านี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจถึงการตอบสนองของสนามแม่เหล็กดาวศุกร์ต่อดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง