รีเซต

นักวิทย์จีนสำรวจ 'การเอาชีวิตรอดนอกโลก' ด้วยการใช้ 'บอลลูนอวกาศ'

นักวิทย์จีนสำรวจ 'การเอาชีวิตรอดนอกโลก' ด้วยการใช้ 'บอลลูนอวกาศ'
Xinhua
18 เมษายน 2565 ( 09:32 )
84
นักวิทย์จีนสำรวจ 'การเอาชีวิตรอดนอกโลก' ด้วยการใช้ 'บอลลูนอวกาศ'

ปักกิ่ง, 16 เม.ย. (ซินหัว) -- การทดลองใช้บอลลูนอวกาศบริเวณอวกาศใกล้โลก ซึ่งออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนนั้น ได้ช่วยปูทางให้แก่การวิจัยเรื่องสิ่งมีชีวิตนอกโลก

 

ตั้งแต่ปี 2019 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ของจีน ได้ส่งบอลลูนที่พวกเขาออกแบบเพื่อทดลองด้านการเฝ้าระวังทางชีวภาพ (biological exposure) ขึ้นไปยังอวกาศใกล้โลก จากเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือ และมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นจำนวน 4 ครั้ง

 

นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีส่วนหนึ่งของแบคทีเรียกลุ่มแมกนีโตแท็กติก (magnetotactic bacteria) ชนิดหนึ่ง ที่สามารถเอาชีวิตรอดได้ในสภาพแวดล้อมสุดขั้วที่ระดับความสูงประมาณ 23 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล

 

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารไซเอนซ์ บูลเลติน (Science Bulletin) ระบุว่าแบคทีเรียแมกนีโตแท็กติกดังกล่าวสังเคราะห์อนุภาคนาโนของสารประกอบไอเอิร์นออกไซด์ (iron oxides) ที่เรียกว่าแมกนีโตโซม (magnetosomes) ออกมา ซึ่งแมกนีโตโซมนี้ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุชีวภาพ ซึ่งถูกใช้เป็นเหมือนเข็มทิศเพื่อนำทางไปยังสนามแม่เหล็กของโลก ส่วนแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ไม่ใช่แม่เหล็ก (nonmagnetic) ชนิดอื่นๆ ล้วนตายในการทดลองนี้

 

อวกาศใกล้โลก หมายถึงบรรยากาศที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลระหว่าง 20-100 กิโลเมตร มีลักษณะของการแผ่รังสีสูง ความกดอากาศต่ำ มีความหนาวเย็นและแห้งมาก คล้ายกับพื้นผิวของดาวอังคารในระดับหนึ่ง

 

การวิเคราะห์เพิ่มเติมพบว่าขนาด คุณสมบัติทางแม่เหล็ก และปริมาณแมกนีโตโซมของสิ่งมีชีวิตที่รอดตายนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อปกป้องพวกมันจากอันตรายที่มาจากรังสีในระดับสูง

 

นักวิจัยคาดการณ์ว่ากระบวนการปล่อยสารอย่างช้าๆ (mineralization) ภายในเซลล์แบคทีเรียอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การอยู่รอดของแบคทีเรียบนดาวอังคาร

 

นักวิจัยระบุด้วยว่าการสำรวจว่าสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดบนดาวอังคารได้หรือไม่นั้น ช่วยให้เราเข้าใจกลยุทธ์การเอาชีวิตรอดที่อาจเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตนอกโลก ตลอดจนระบบขนส่งมนุษย์ระหว่างดวงดาว

 

นอกจากนี้ บอลลูนดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบสิ่งมีชีวิตจากแหล่งกำเนิด ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ในอนาคตได้ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง