“โพสต์ติเวิร์ส” ความทรงจำผ่านนิทรรศการ 140 ปีไปรษณีย์ไทย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเฉลิมฉลอง 140 กิจการไปรษณีย์ไทย เตรียมจัดงาน “POSTiverse : ส่งสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566” สะท้อนจักรวาลที่รวมความทรงจำปัจจุบันและอนาคตของไปรษณีย์ไทย โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางมาร่วมแถลงข่าว
พร้อมการนำเสนอศิลปะในระดับเวิลด์คลาสการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากหลายกลุ่มบุคคล รวมถึงสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยาก ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากของไปรษณีย์ไทยเนื่องด้วยวาระครบรอบ 140 ปีกิจการด้านการสื่อสารและขนส่งของชาติและยังครบรอบปีที่ 20 การแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีบริการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฉลองการครบรอบวาระดังกล่าวกระทรวงดีอีเอสโดยไปรษณีย์ไทยจึงได้เตรียมจัดงานใหญ่เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงวิวัฒนาการกิจการของชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวล้ำของไปรษณีย์ไทยที่ทันสมัย สอดรับกับชีวิตยุคดิจิทัลในงาน “POSTiverse : ส่งความสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566” ซึ่งมีความพิเศษอย่างมากในทุกแง่มุม เช่น ความเป็นศิลปะในระดับเวิลด์คลาส การกระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์ – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเติมเต็มโอกาสและความสุขให้คนไทยด้วยไปรษณีย์ไทย ตลอดจนสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยากที่จะถูกจัดแสดงในบิ๊กอีเว้นท์นี้
พร้อมกันนี้ภายในงานยังได้ชมชิ้นงานที่หาชมได้ยาก อาทิเช่น นิทรรศการ “เจ้าฟ้านักสะสม” นำเสนอนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ “เจ้าฟ้านักสะสม” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งห้องจำลองสิ่งสะสม/ แสตมป์สะสมส่วนพระองค์ อีกทั้งยังมีแม่พิมพ์แสตมป์ชุดแรกของไทย "ชุดโสฬศ" และแม่พิมพ์ไปรษณียบัตรชุดแรกจากกรมธนารักษ์ อายุ 140 ปีที่หาชมที่ไหนไม่ได้
คอลเลกชันอาร์ตทอย 13 แบบโดยศิลปินจาก Art Toys Thailand และ Secret Collection 1 แบบ ที่ออกแบบโดยทีม “ไปรฯ ดีมาดี” นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมแข่งขัน J-MAT Brand Planning Competition #2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างสรรค์อาร์ตทอยเป็นคาร์แรคเตอร์ที่เกี่ยวกับไปรษณีย์ โดยทั้ง 14 แบบนี้มาในรูปแบบโมเดลกาชาปองแบบสุ่มขนาดเล็ก 1 - 2 นิ้ว
สำหรับไฮไลต์งานแสดงตราไปรษณียากรโลกคือแสตมป์สีม่วงแดง 1 เซ็นต์บริติชกีอานา ปี 1856 จากประเทศบริติช กายอานา ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และแสตมป์มังกร 500 Mon (พิมพ์กลับหัว) ปี 1871 จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงที่สุดในทวีปเอเชีย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท(เมื่อวันที่ 1 พ.ย.66)
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์