รีเซต

จีนเรียกร้องให้เยอรมนี ชี้แจงเจตนาส่งเรือรบมายังทะเลจีนใต้

จีนเรียกร้องให้เยอรมนี ชี้แจงเจตนาส่งเรือรบมายังทะเลจีนใต้
TNN World
4 สิงหาคม 2564 ( 09:36 )
279

Editor’s Pick: 'จากปักกิ่งถึงเบอร์ลิน' ทางการจีนเรียกร้องให้เยอรมนี ชี้แจงเจตนาส่งเรือรบมายังทะเลจีนใต้ 

 


'ทะเลจีนใต้' น่านน้ำพิพาท


รัฐบาลจีนระบุว่า จะไม่พิจารณาคำขอของเรือรบเยอรมัน ที่จะเข้ามาเทียบท่าที่นครเซี่ยงไฮ้ จนกว่ารัฐบาลเยอรมนีจะชี้แจงวัตถุประสงค์ในการส่งเรือฟริเกตผ่านทะเลจีนใต้

 


เมื่อวันจันทร์ (2 สิงหาคม) เรือรบบาเยิร์น เริ่มปฏิบัติภารกิจมุ่งไปยังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และวางแผนที่จะเดินทางข้ามทะเลจีนใต้ ในเดือนธันวาคม ถือเป็นเรือรบเยอรมันลำแรกที่แล่นผ่านภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่ปี 2002 

 


แต่เรือรบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เคลื่อนผ่านน่านน้ำ ใกล้เกินระยะ 12 ไมล์ทะเล ของทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เป็นหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีน และสหรัฐฯ รวมถึงประเทศพันธมิตรอื่น ๆ มายาวนานแล้ว

 


ภารกิจของเรือรบบาเยิร์น เริ่มต้นในช่วงใกล้พ้นวาระของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล โดยภายใต้การนำของเธอ เยอรมนีเริ่มส่งเสียงต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ 

 


ก่อนที่เธอจะลงจากตำแหน่ง แมร์เคิลกำลังเร่งกำหนดนโยบายจีนฉบับใหม่ ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ แต่บางคนมองว่าจุดยืนของแมร์เคิลนั้น ไม่สอดคล้องกับสังคมเยอรมัน ทำให้เกิดความกังวลทวีคูณ ถึงความตึงเครียดกับจีนที่จะเพิ่มสูงขึ้น

 

 


เปิดเผยเส้นทางเดินเรือของเรือรบบาเยิร์น


โฆษกกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี ระบุว่า เส้นทางของเรือรบฟริเกตบาเยิร์น ประกอบด้วย ออสเตรเลีย กวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งการเดินทางผ่านทะเลจีนใต้ ไม่สามารถระบุวันที่แน่นอน ล่วงหน้าหลายเดือนได้ 

 


โฆษกกล่าวย้ำ ถึงความคิดเห็นของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี แอนน์เกร็ต แครมป์-คาร์เรนบาวเออร์ ที่กล่าวไว้ว่า ข้อเสนอให้เรือรบบาเยิร์นเยือนเซี่ยงไฮ้นั้น มีขึ้น “เพื่อรักษาความสัมพันธ์” กับรัฐบาลจีนเท่านั้น

 

 


เยอรมนีขอเยือนท่าเรือจีน


รายงานของ Chatham House ซึ่งเป็นสถาบันนโยบายอิสระในกรุงลอนดอน ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของจีน ตอบรับคำขอเยี่ยมชมท่าเรือของรัฐบาลเยอรมนีแล้ว

 


ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า เยอรมนีได้ร้องขอจีน เพื่อนำเรือรบเทียบท่านครเซี่ยงไฮ้ผ่านเส้นทางอื่น ที่ไม่ผ่านทะเลจีนใต้

 


“แต่เนื่องจากข้อมูลที่เยอรมนีเปิดเผย เกี่ยวกับการเดินเรือนั้นคลุมเครือ ทางการจีนจึงจะตัดสินใจ หลังเยอรมนีชี้แจงเจตนาอย่างชัดเจนแล้วเท่านั้น”

 


โฆษกฯ ยังกล่าวว่า จีนหวังว่าเรือรบจะ "ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างจริงจัง" ระหว่างการเดินทางเฉียดทะเลจีนใต้ โดยเคารพในอำนาจอธิปไตย สิทธิ และผลประโยชน์ของประเทศชายฝั่ง รวมถึง ละเว้นจากการทำสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค

 

 


คู่แข่งตลอดกาล สหรัฐฯ-จีน


ภารกิจทางการทหารของชาติตะวันตก ในน่านน้ำพิพาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหนึ่งในภารกิจดังกล่าว คือ เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Queen Elizabeth ของสหราชอาณาจักร และกองเรือพิฆาตที่ขณะนี้อยู่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นภารกิจเพื่อเสรีภาพในฝึกการเดินเรือ และซ้อมรบทางทหารร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค 

 


ทั้งนี้ ยังมีภารกิจลาดตระเวนของเรือดำน้ำฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังแสดงตนช่วงชิงอภิสิทธิ์ 'เสรีภาพการเดินเรือ' ในน่านน้ำพิพาทกับจีนด้วย

 


ผู้เชี่ยวชาญชาวจีน กล่าวว่า เยอรมนีกำลังแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อกดดันจีน ด้วยการปรากฏตัวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่ เยอรมนีพยายามไม่คุกคามจีน ด้วยการตัดสินใจที่จะไม่เข้าสู่น่านน้ำล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล และขอเยี่ยมเยือนท่าเรือจีนแทน

 

 

 

จีนคู่ค้ารายใหญ่ของเยอรมนี


ซุน เค่อฉิน นักวิจัยจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีน กล่าวว่า การเคลื่อนพลของเรือบาเยิร์น จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในอินโด-แปซิฟิกของเยอรมนี 

 


“การเดินทางสู่ทะเลจีนใต้ เป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ในการร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อกดดันจีน โดยรวมแล้ว เยอรมนียังถือว่าจีนเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ และยึดความร่วมมือเป็นประเด็นหลัก”

 


ซุน ยังเสริมว่า เยอรมนีลังเลที่จะแข็งข้อกับจีน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของตนเอง
การตัดสินใจของเยอรมนีในการบังคับเรือฟริเกต ให้พ้นจากพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลในทะเลจีนใต้ที่รัฐบาลจีนอ้างสิทธิ์นั้น เป็นสัญญาณว่า เยอรมนีไม่ต้องการทำให้จีนไม่พอใจ 

 

 


ก้าวสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของเยอรมนี


ธอร์สเทน เบนเนอร์ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะทั่วโลก ในกรุงเบอร์ลิน กล่าวว่า การส่งเรือรบเป็นก้าวสำคัญของนโยบายต่างประเทศของเยอรมนี และเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า เยอรมนีใส่ใจเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ และเสรีภาพในการเดินเรือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึง ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรที่มีแนวร่วมเดียวกัน

 


เบนเนอร์ ระบุว่า เยอรมนีส่งเรือรบภายใต้การดูแลของแมร์เคิล ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์เล็ก ๆ และความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของรัฐมนตรีกลาโหม เครมป์-คาร์เรนบาวเออร์ ผู้พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างมาก

 


ทั้งนี้ เบนเนอร์ กล่าวว่า การที่จีนปฏิเสธไม่ให้เรือรบบาเยิร์น มุ่งหน้าผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้ "อาจเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก็เป็นได้" สำหรับ แครมป์-คาร์เรนบาวเออร์ และคนอื่น ๆ ที่ผลักดันให้มีการเคลื่อนพลไปอินโด-แปซิฟิก อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความกังวล เกี่ยวกับความทะเยอทะยานของจีน ในการแสดงอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึง การเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

 


“พวกเขาจะยิ้มรับ แม้เรือรบบาเยิร์น ไม่อาจเยือนเซี่ยงไฮ้ได้”

 

 


อินเดียก็รุกทะเลจีนใต้เช่นกัน


อินเดียประกาศส่งกองทัพเรือรบเข้าไปยังพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อซ้อมรบร่วมกับกลุ่ม Quad 
กระทรวงกลาโหมอินเดียเปิดเผยเมื่อว่า เตรียมส่งกองกำลังพร้อมกับเรือรบ 4 ลำเข้าไปยังน่านน้ำทะเลจีนใต้ โดยวางแผนปฏิบัติการในน่านน้ำดังกล่าวนาน 2 เดือน รวมถึงการซ้อมรบร่วมทางน้ำ "มาลาบาร์ 2021" (Malabar 2021) กับกลุ่ม Quad หรือ จตุรมิตร ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 


เรือรบทั้งหมดเตรียมจะออกจากอินเดียในช่วงต้นเดือนนี้ แต่ยังไม่ได้ระบุวันและเวลาที่ชัดเจน
เรือรบที่จะร่วมในภารกิจดังกล่าว ประกอบด้วย เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี, เรือฟริเกตติดขีปนาวุธนำวิถี, เรือลาดตระเวนต่อต้านเรือดำน้ำ และ เรือลาดตระเวรติดขีปนาวุธนำวิถี ซึ่งจะร่วมปฏิบัติการซ้อมรบหลายอย่างระหว่างภารกิจ 2 เดือนนี้

 


นอกจากนี้ การซ้อมรบแบบทวิภาคีระหว่างปฏิบัติการครั้งนี้ คือ การที่เรือรบอินเดียจะทำงานร่วมกับหน่วยงานนาวิกโยธินจากรัฐชายฝั่งทะเลจีนใต้ รวมถึง สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย 

 


แถลงการจากกระทรวงกลาโหมอินเดีย ระบุว่า ภารกิจต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพอินเดียกับประเทศพันธมิตร โดยมีพื้นฐานผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกัน และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อเสรีภาพในการเดินทะเล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง