รีเซต

การทูตยุคใหม่แห่งแดนมังกร เมื่อจีนผูกมิตรชาติอาเซียนผ่าน ‘ทุเรียน’

การทูตยุคใหม่แห่งแดนมังกร เมื่อจีนผูกมิตรชาติอาเซียนผ่าน ‘ทุเรียน’
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2565 ( 17:17 )
92
การทูตยุคใหม่แห่งแดนมังกร เมื่อจีนผูกมิตรชาติอาเซียนผ่าน ‘ทุเรียน’

สำนักข่าว SCMP รายงานว่า ผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวอย่าง “ทุเรียน” กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทูตของจีน หลังเริ่มให้ชาติอาเซียนส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน


---“ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้---


ทุเรียน หรือที่รู้จักกันในนาม “ราชาแห่งผลไม้” กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือล่าสุดที่จีนใช้สร้างสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


ทางการจีนให้คำมั่นว่าจะนำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับภูมิภาคที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ท่ามกลางการแข่งขันกับสหรัฐฯ


ระหว่างที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางเยือนมาเลเซียนั้น เขากล่าวว่า ตนเองได้ทานเค้กทุเรียนมูซานคิง และประทับใจมากเนื่องจากมีอร่อยถูกปาก โดย “มูซานคิง” เป็นทุเรียนสายพันธุ์ยอดนิยมของมาเลเซีย


หวัง ยังเสริมว่า จีนพร้อมที่จะเพิ่มการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ผลไม้เมืองร้อน และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่าง  จากมาเลเซียด้วย


---เวียดนามเตรียมส่งออกทุเรียนไปจีน---


หลังการเยือนมาเลเซีย หวัง อี้ ได้ต้อนรับ ฟาม บิญห์ มิญห์ รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่เดินทางเยือนจีน โดยทั้งสองชาติได้ประกาศข้อตกลงอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดเวียดนามไปยังจีน หลังเจรจานานกว่า 4 ปี


กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เผยด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับความสนใจของเวียดนาม ในการเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและประมงไปยังจีน 


ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามอยู่แล้ว โดยเวียดนามขายผักผลไม้ประมาณ 70% ให้กับจีน แต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-เวียดนามนั้นไม่มั่นคงนัก เนื่องจากข้อพิพาทดินแดนที่มีมายาวนาน 


ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามแสดงความไม่พอใจต่อ “ความคืบหน้าที่ล้าช้า” ในการเปิดตลาดจีนให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเวียดนาม 


เวียดนามยังวิพากษ์วิจารณ์การปิดพรมแดนหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาด้วย ซึ่งยกเลิกในไม่กี่เดือนให้หลัง 


---แผนพัฒนาเศรษฐกิจผ่านทุเรียน---


เล ฮอง เฮียป ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน ISEAS กล่าวว่า การปิดพรมแดนดังกล่าว ทำให้รถบรรทุกหลายพันคันที่ขนส่งผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวคิดของเวียดนามที่มีต่อจีน


ขณะที่เวียดนามมีความกระตือรือร้นที่จะรักษาเสถียรภาพการค้าข้ามพรมแดนกับจีน พวกเขาก็อยากแน่ใจว่า จีนจะไม่ใช้ความกระตือรือร้นดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” เล กล่าว


ล่าสุด รายงานของสำนักข่าวเวียดนาม เผยว่า สวนทุเรียนในเวียดนามกว่า 123 แห่ง และโรงงานบรรจุภัณฑ์ 57 แห่ง เข้าร่วมการฝึกอบรมที่จัดโดยกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับตลาดจีน


รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่ 2 รองจากไทยที่ส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน และเสริมว่า การส่งออกครั้งนี้จะทำให้การทำฟาร์มทุเรียนในเวียดนามมีโอกาสเติบโตมากขึ้น


---เครื่องมือถ่วงดุลอำนาจ---


เมื่อต้นเดือนนี้ จีนยังหารือเกี่ยวกับการนำเข้าทุเรียน กับกัมพูชาและฟิลิปปินส์ด้วย ข้อมูลบนเว็บไซต์ข่าว Thmey Thmey ระบุว่า โครงการนำร่องในการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากกัมพูชา เริ่มต้นขึ้นแล้วโดยสินค้าล็อตแรกหนักกว่า 50 ตัน 


ปีที่แล้ว จีนนำเข้าทุเรียนสดจำนวน 821,600 ตัน มูลค่าประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูลของศุลกากรจีน


ยิ่งขายสินค้าให้จีนได้มากเท่าไร เวียดนามก็จะยิ่งไม่อยากทำลายความสัมพันธ์กับจีนมากเท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญ กล่าว 


นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับจีน เนื่องจากขณะนี้สหรัฐฯ กำลังพยายามผลักดันเวียดนามและประเทศในอาเซียนให้ออกห่างจากจีน


อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะผลักดันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบโต้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน


---คู่ค้ารายใหญ่ของอาเซียน---


ขณะที่ ระเบียงการค้าทางบก-ทะเลระหว่างประเทศ ช่วยให้การค้าของอาเซียนและจีน เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงครึ่งปีแรก


ระเบียงการค้าดังกล่าว สร้างขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน โดยมีฉงชิ่งเป็นศูนย์กลาง และส่งสินค้าผ่านวิธีการขนส่งต่าง  ทั้งทางรถไฟ ถนน และทางน้ำ ปัจจุบัน ขยายไปยังท่าเรือ 319 แห่ง ใน 107 ประเทศและภูมิภาค


กระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า ช่วงห้าปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าและส่งออกกับอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 58.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 เป็น 107.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021 และประเภทสิ่งของที่ขนส่งขยายเป็นกว่า 640 รายการ จากประมาณ 50 รายการ


ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2009 โดยในปี 2021 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่าถึง 668,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.11% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Getty Images

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง