รีเซต

โอมิครอนรุนแรงไม่เท่าเดลตา วิจัยอังกฤษ-แอฟริกาใต้ ชี้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดต่ำกว่าเดลตา 30-70% แม้ระบาดไว

โอมิครอนรุนแรงไม่เท่าเดลตา วิจัยอังกฤษ-แอฟริกาใต้ ชี้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดต่ำกว่าเดลตา 30-70% แม้ระบาดไว
TNN ช่อง16
23 ธันวาคม 2564 ( 15:47 )
76
โอมิครอนรุนแรงไม่เท่าเดลตา วิจัยอังกฤษ-แอฟริกาใต้ ชี้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดต่ำกว่าเดลตา 30-70% แม้ระบาดไว

---อังกฤษติดเชื้อทะลุแสน---


ตัวเลขล่าสุดจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันทะลุ 100,000 คนแล้วเป็นครั้งแรก โดยอยู่ที่ 106,122 คนเมื่อวานนี้ (22 ธันวาคม) สูงที่สุดนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรเริ่มตรวจเชื้อโควิดครั้งใหญ่ ที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา และยังเป็นการทุบสถิติสูงสุดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ต่อวัน เป็นวันที่ 8 ติดต่อกันที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นมา


นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโควิดที่อาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ยังพุ่งสูงสุดที่ 8,008 คนในวันอังคารที่ผ่านมา (20 ธันวาคม) สูงสุดในรอบ 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังน้อยกว่าเกือบ 5 เท่า ของจำนวนผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาลสูงสุด 39,254 คนเมื่อวันที่ 18 มกราคมปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรกำลังเกิดคลื่นการระบาดของโควิดระลอกที่ 2 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้


อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวล่าสุดว่า จะไม่มีการออกมาตรการควบคุมใหม่ ๆ ก่อนคริสต์มาส แต่เตือนว่า หลังคริสต์มาสอาจต้องมีมาตรการใหม่ ๆ เพื่อสกัดการระบาดอย่างรวดเร็วของ ‘โอมิครอน’


---งานวิจัยชี้ ‘โอมิครอน’ ไม่รุนแรง---


ผลการวิจัยล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ 2 ฉบับ ทั้งในสหราชอาณาจักรและแอฟริกาใต้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำหลักฐานว่า ไวรัสกลายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ อาจก่ออาการเจ็บป่วยไม่รุนแรงเท่า ‘เดลตา’  โดยมีหลักฐานเบื้องต้นที่พบว่า มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ถึงราว 30-70%


แต่แม้จะมีงานวิจัยว่าผู้ติดเชื้อ ‘โอมิครอน’ แล้วจะมีอาการไม่รุนแรงเท่า แต่หากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ก็อาจเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในการเข้าโรงพยาบาลได้เหมือนกัน 


โดยหนึ่งในผลการศึกษาจากสกอตแลนด์ เป็นข้อมูลของผู้ติดเชื้อโอมิครอน 23,840 คน และผู้ติดเชื้อเดลตา 126,511 คน ระหว่าง 1 พฤศจิกายน - 19 ธันวาคม โดยบรรดานักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ, มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ และสำนักงานสาธารณสุขสกอตแลนด์ จับตาสุขภาพของผู้ป่วยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อโอมิครอนและเดลตา โดยพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโอมิครอนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 15 ราย ส่วนติดเชื้อเดลตาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 856 คน


ซึ่งทีมนักวิจัย ระบุว่า หาก ‘โอมิครอน’ รุนแรงเทียบเท่า ‘เดลตา’ ก็คาดว่าจะมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลราว 47 คนแล้ว  เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนติดเชื้อ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวกลับพบผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพียง 15 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่า โอมิครอนก่อความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ลดลงจากตัวกลายพันธุ์เดลตาถึง 2 ใน 3


---แทบไม่จำเป็นต้องเข้า รพ.---


ขณะที่ ผลการวิจัยอีกฉบับในแอฟริกาใต้ ในการศึกษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 161,328 คน ทั่วประเทศ ระหว่าง 1 ตุลาคม - 6 ธันวาคม พบว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อโอมิครอน มีที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% ในช่วงเวลาดังกล่าว ผิดกับผู้ติดเชื้อเดลตา ซึ่งมีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลคิดเป็นสัดส่วน 12.8%


งานวิจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่า โอมิครอนทำให้ก่ออาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยพบว่า ประชาชนราว 70-80% ที่ติดเชื้อตัวนี้ แทบไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ครั้งที่คนไข้รายหนึ่ง ๆ ถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ความเสี่ยงอาการรุนแรงนั้นไม่ต่างกัน


อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 การศึกษาวิจัยยังเป็นข้อมูลเบื้องต้น และยังไม่ผ่านการตรวจสอบทบทวนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Freepik

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง