รีเซต

เซ่นพิษโควิด! ธุรกิจอาหารเกษตรแปรรูปอ่วม

เซ่นพิษโควิด!  ธุรกิจอาหารเกษตรแปรรูปอ่วม
TNN ช่อง16
26 พฤษภาคม 2564 ( 16:20 )
100
เซ่นพิษโควิด!  ธุรกิจอาหารเกษตรแปรรูปอ่วม

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 ได้ส่งผลกระทบ ต่อการค้า การนำเข้าและส่งออก เกิดการชะงักงันของระบบการขนส่งและการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เนื่องจากมาตรการปิดประเทศและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ต่อมาในช่วงกลางปี 2563 เศรษฐกิจบางประเทศ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวจากการควบคุมการระบาด และฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 


ขณะที่การขนส่งยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติทั้งระบบ จึงนำมาซึ่งการขาดแคลน  ตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้า ซึ่งเปิดโอกาสการทำกำไรอย่างมหาศาลให้แก่ธุรกิจสายเรือและธุรกิจให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ จากการปรับค่าขนส่งเพิ่มขึ้นประมาณ 100-300% ของภาวะปกติ (ขึ้นกับเส้นทางการขนส่ง) ผู้ผลิตและส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนที่สูงขึ้น การปรับขึ้นค่าบริการนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่  ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว อาหารกระป๋องที่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคในภาวะวิกฤต ต้องแพงขึ้นจากราคาค่าขนส่งที่ทะยานสูง


นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารกระป๋องยังเผชิญปัญหาหนักจากราคาแผ่นเหล็กที่พุ่งสูงขึ้นจนสะเทือนต้นทุนการผลิตอาหารกระป๋อง กล่าวคือ ราคาแผ่นเหล็กทินเพลท(แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก)  และทินฟรี(แผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม) ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตกระป๋องเพื่อบรรจุอาหารมีการขยับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน จากไตรมาสที่ 4/2563 ถึง ไตรมาสที่ 2/2564 ส่งผลให้ราคากระป๋องปรับราคาสูงขึ้นรวม 17-19% 


สาเหตุมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องมาจากปัญหาอุปสงค์ และอุปทาน ไม่สมดุลกัน ผู้ผลิตแผ่นเหล็กรายสำคัญของโลกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดำเนินนโยบายด้านรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงทำให้อุปทานเหล็กในตลาดโลกลดลง  ในขณะที่อุปสงค์ยังคงเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาแผ่นเหล็กฯยังคงมีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้นอีกในไตรมาสที่ 3/2564 และไตรมาสที่4/2564  


ขณะที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กฯ ในประเทศซึ่งมีอยู่ 2 ราย มีกำลังการผลิตที่จำกัดเพียง 50% ของความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า แต่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กฯ ในประเทศกลับยื่นคำร้องให้กรมการค้าต่างประเทศออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) การนำเข้าสินค้าแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม 


ซึ่งหากมาตรการนี้ถูกนำมาบังคับใช้ แผ่นเหล็กเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียมที่นำเข้าจะมีราคาสูงขึ้นอีกราว 20-30% จากอัตราอากรทุ่มตลาด ถึงแม้มาตรการ AD สินค้าแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกและแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม    ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ผลกระทบก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อประเทศผู้ส่งออกแผ่นเหล็กฯทราบถึงสถานการณ์ขาดแคลนแผ่นเหล็กในประเทศไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการไต่สวน AD จึงเป็นโอกาสในการทำกำไรด้วยการขายแผ่นเหล็กให้ไทยในราคาที่แพงขึ้น และการเจรจาต่อรองทำได้ยากขึ้น


ทั้งนี้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 6 สมาคมการค้า            ได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์   ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการปรับขึ้นราคาแผ่นเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋องและฝา การปรับขึ้นค่าระวางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้


1.    ยกเลิกการไต่สวนคำร้องมาตรการการทุ่มตลาดแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก และแผ่นเหล็กเคลือบโครเมียม โดยเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแผ่นเหล็กในประเทศซึ่งนำมาสู่การปรับราคาสูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม และผู้ขายแผ่นเหล็กในต่างประเทศฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาแผ่นเหล็กที่ส่งออกมายังประเทศไทย เนื่องจากรับทราบว่าแผ่นเหล็กในประเทศมีราคาสูงและมีปริมาณไม่เพียงพอ  อีกทั้ง การยกเลิกมาตรการการทุ่มตลาดฯ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตกระป๋องภายในประเทศสามารถแสวงหาแผ่นเหล็กจากแหล่งอื่นที่มีต้นทุนถูกลง ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพทั้งเชิงปริมาณและราคา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ผลิตแผ่นเหล็กในประเทศไม่สามารถปรับแผนการผลิตให้รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศได้

2. เร่งรัดดำเนินมาตรการใดๆ ที่สามารถแก้ไขสถานการณ์การปรับขึ้นค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้ต้นทุนค่าขนส่งกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว อาทิ การหารือแนวทางความร่วมมือด้านการขนส่งกับประเทศจีนในการผลิตตู้คอนเทนเนอร์และการให้บริการขนส่งทางเรือ เป็นต้น


หากสถานการณ์ปัญหาการปรับราคาค่าขนส่งและแผ่นเหล็กยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้  โดยไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและเป็นระบบ จะลดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปของไทยซึ่งนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2 แสนล้านบาท  อีกทั้ง จะมีผู้ได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง นับแต่ผู้บริโภคที่ต้องแบกรับภาระรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในห่วงโซ่การผลิต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง