เอเซีย พลัส มองเป้า SET สิ้นปี 68 ที่ 1,424 จุด จับตาสงครามการค้าเสี่ยง แพร่กระจายไปทั่วโลก

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รุนแรงเป็นประวัติการณ์หลังตอบโต้กันไปมาผ่านการขึ้นอัตราภาษีศุลกากร ซึ่งเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบมากในช่วงเปลี่ยนผ่าน 1-2 ปีแรกจากสงครามการค้า ทำให้ตลาดมองความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ สูงขึ้นและมีแนวโน้มหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจลงเพิ่มเติมทั้งในและนอกสหรัฐฯ
ทั้งนี้คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 68 เบื้องต้นอาจกดดัน GDP ไทยชะลอลงซึ่งคาดว่าตัวเลขมีโอกาสต่ำกว่า 2.0% จากหลายปัจจัยกดดันทั้งการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในตลาดสินค้าโลกซึ่งจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยโดยตรงและการลงทุนทางตรงของต่างชาติที่มีความไม่แน่นอนสูง กดดันให้มูลค่า FDI/ BOI มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวน่าจะเห็นมาตรการที่จะเข้าประคับประคองทั้งนโยบายการคลังที่มีโอกาสเห็นการปรับเพิ่มกรอบวินัยการคลัง จากหนี้สาธารณะ 70% ของ GDP ให้สูงขึ้นและนโยบายการเงิน ซึ่งน่าจะเห็น กนง.ปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งเหลือ 1.75% ในการประชุมรอบ 30 เม.ย.68 โดยการดอกเบี้ยลง 25 BPS.
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2/68 ที่ต้องติดตาม คือการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลกยุค TRUMP 2.0 เป็นเรื่องที่นักลงทุนให้น้ำหนักมากขึ้นเนื่องจากผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ เสี่ยงแพร่กระจายไปทั่วโลก (ไม่ใช่แค่จีนประเทศเดียว) โดยคาดสหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นภาษีนำเข้าในช่วงไตรมาส 2/68 เป็นต้นไป
กดดัน GDP โลกปี 68 โตต่ำกว่า 3% อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากการตั้งกำแพงภาษีสหรัฐที่ไม่มีการตอบโต้กลับกว่า 75 ประเทศ ถูกเลื่อนออกไป 90 วัน ซึ่งอาจหนุนให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในช่วงสั้นได้
สำหรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย (SET INDEX) ในช่วงไตรมาส 2/68 ASPS คาดการณ์แนวต้านไว้ที่ระดับ 1,160 – 1,180 จุด และมีแนวรับที่ 1,060 จุด ส่วนเป้าหมายดัชนีฯ สิ้นปี 68 แบบอนุรักษ์นิยม ภายใต้ประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 68 ที่ 89 บาทต่อหุ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% และส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราผลตอบแทนตลาดหุ้น (MEYG) ที่ 4.5% (+1 SD) จะได้ดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 68 ที่ 1,424 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำหุ้นอันดับ 1 อุตสาหกรรมที่นักวิเคราะห์เห็นว่าแข็งแกร่ง และมี High Dividend Yield +Profit Growth ปี 68-69 อย่าง SCC, CPALL, BDMS, WHA, KCE, CK, AP, SCGP, BBL
ด้าน นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์หุ้นต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯมีความผันผวนสูง จึงแนะนำการลงทุนที่เน้นหุ้นกลุ่มพื้นฐานดี อย่าง กลุ่ม Domestic, Defensive, Dividendเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน อาทิ China Mobile, Coca-Cola,Costco, Eli Lilly, Fast Retailing, Giant Biogene, Gree, Electric, Midea, Netflix, Tingyi, Walmart, Sea Limited
ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตเนื่องจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่มีอยู่สูงและความเสี่ยงด้านต่ำจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจลุกลามไปนอกเหนือจากภาษีทางด้านการค้าความเสี่ยงหนี้สาธารณะชนเพดานของสหรัฐฯ รวมทั้งแผนปรับลดภาษีของสหรัฐฯ
ด้านนางสาวลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการเคลื่อนไหวแบบลงจำกัดอย่างเสียไม่ได้เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จากระดับ 2.00% ในปัจจุบัน ลงไปอยู่ที่ 1.50-1.75% ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อรองรับการคาดการณ์ล่วงหน้า สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 3 ปีที่ตอนนี้อยู่ในช่วง 1.55-1.71%
โดยล่าสุดตลาดคาดว่าแบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในช่วงกลางปีลงไป โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ณ สิ้นไตรมาสแรก มีการปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หลัง กนง ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเร็วกว่าตลาดคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนภาครัฐอายุ 2-10 ปี ปรับลง 31-35 bps มาอยู่ที่ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำสำหรับการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ภายใต้สภาวะตลาดที่ผันผวน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงมากมายทั้งภายในและภายนอก เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติหนี้เสีย ภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำ และสงครามการค้าทั่วโลก จึงกดดัน yield ระยะสั้นให้โงหัวไม่ขึ้นตามการคาดการณ์การปรับตัวลงของดอกเบี้ยนโยบาย แต่อย่างไรก็ตามตลาดพร้อมดีดตัวกลับอย่างเร็วและแรงเมื่อเห็นสัญญาณ bottom out ของภาวะดอกเบี้ย
จึงแนะนำให้ selective buy ตามวัตถุประสงค์การลงทุน ถ้าวัตถุประสงค์เพื่อ trading แนะให้ซื้อตราสารหนี้ภาครัฐ โดยความเสี่ยงจากการขาดทุนจะมากขึ้นตามอายุตราสาร
ดังนั้นจึงแนะนำให้ trade พันธบัตรที่อายุไม่เกิน 5 ปี แต่ถ้าวัตถุประสงค์ Buy and Hold แนะให้ซื้อ Perpetual bonds หรือ หุ้นกู้ที่อันดับเครดิตสูง ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวพันกับปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต อย่างเช่น อาหารและเครื่องดื่ม (Food), การแพทย์ (Helth), ธุรกิจการเกษตร (Agri) เป็นต้น
ติดตามข่าวที่เกี่ยวข้อง : https://www.tnnthailand.com/wealth/investment/196919/