รีเซต

ชำแหละโมเดล‘ฟอกเงิน’ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

ชำแหละโมเดล‘ฟอกเงิน’ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
มติชน
19 ธันวาคม 2563 ( 11:19 )
551

หมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งจากผลการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ แนวโน้ม รูปแบบ และวิธีการฟอกเงินในนิติบุคคล 6 รูปแบบ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อหาแนวทางป้องกันและปราบปรามรูปแบบการฟอกเงินดังกล่าว

 

รูปแบบที่ 1
ความเสี่ยงของการฟอกเงิน


ผ่าน‘ธุรกิจบังหน้า’

ธุรกิจบังหน้าถูกใช้เป็นช่องทางการฟอกเงินในหลายคดี เช่น การทุจริตในภาครัฐ การใช้นอมินีหลีกเลี่ยงภาษี และการฉ้อโกงประชาชน ตัวอย่างคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นำเงินจากการ
กระทำความผิดมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทบังหน้า เพื่อประกอบกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกลุ่มบุคคลใกล้ชิดเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินีในการก่อตั้งบริษัท และเป็นกรรมการของบริษัทเพื่อปกปิดผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
มีการโอนเงินผ่านบุคคลหลายกลุ่ม เพื่อให้กรรมการบริษัทซึ่งเป็นนอมินีเบิกถอนจากบัญชีธนาคารและนำเงินจากการกระทำผิดไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อทำธุรกรรมซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้เก็งกำไร
มีการขายอสังหาริมทรัพย์ไปยังบุคคลภายนอก ทำให้ได้ผลกำไรกลับคืนเข้าสู่ผู้กระทำผิดผ่านบริษัทบังหน้า

สภาพปัญหา


-ขาดบทบัญญัติในการตรวจสอบตัวตนของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
-ระเบียบการรับรองลายมือชื่อของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจเปิดโอกาสให้มีการใช้นอมินี
-การออกหุ้นไม่ระบุชื่อ ไม่สามารถตรวจสอบผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
-การตรวจสอบพฤติกรรมนอมินี-ไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานที่จะลงโทษผู้กระทำผิดเรื่องนอมินีและการตรวจสอบจะมุ่งเป้าที่ 5 สาขาธุรกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ขนส่งสินค้า การเกษตร และโฆษณาการรายงานการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้น
-กรรมการบริษัทร้าง (บริษัทที่ไม่ส่งงบการเงินติดกัน 3 ปี) สามารถไปจัดตั้งบริษัทใหม่ได้
-การแจ้งที่อยู่ผิดปกติ เช่น ไม่มีที่ตั้งตามแจ้ง หรือที่อยู่ซ้ำกับนิติบุคคลอื่นหลายแห่ง

 

รูปแบบที่ 2
ความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่าน‘ทนายความ’


ยังไม่พบคดีที่เอาผิดกับทนายความ พบเพียงแต่กรณีที่ทนายอาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทนายความช่วยผู้กระทำความผิดจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทบังหน้าและเพิ่มทุนแก่บริษัทดังกล่าว เพื่อนำเงินที่ได้จากการ
กระทำความผิดเข้าระบบ ทนายความช่วยทำสัญญากู้ยืมเงินปลอม (สร้างหนี้เทียม) และจดทะเบียนจำนอง เพื่อเตรียมย้ายเงินออกจากบริษัทบังหน้า การช่วยฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและฟ้องบังคับจำนอง และนำยึดทรัพย์สินที่จำนอง เพื่อนำเงินในระบบกลับคืนสู่เจ้าของเงินที่แท้จริง

 

สภาพปัญหา


-พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 เป็นเพียงการกำกับดูแลจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพของทนายความทั่วไป ไม่ได้ครอบคลุมมิติของการฟอกเงิน
-พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 ไม่ได้กำกับดูแลที่ปรึกษากฎหมาย
-การให้บริการจัดตั้งและบริหารบริษัท เป็นบริการด้านกฎหมายที่มีความเสี่ยงสูงสุด
-การให้บริการร่างสัญญาหรือจัดเตรียมเอกสารหลักฐานทางกฎหมาย ผู้ฟอกเงินมักจะให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายร่างสัญญาที่ไม่ได้มีการดำเนินการทางทรัพย์สินจริง
-การให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงินได้โดยการให้คำแนะนำทางกฎหมายเพื่อเลี่ยงข้อกำหนดบางประการ
-การให้บริการเป็นตัวแทนคดีในศาล หรือการว่าความอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในขั้นตอนการนำเงินกลับคืนสู่เจ้าของ โดยทนายความฟ้องคดีตามสัญญาปลอม เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้เงินตามสัญญา มีตัวอย่างคดีที่เห็นชัดคือกรณีทนายความฟ้องบังคับจำนองในคดีจำนำข้าว

 

รูปแบบที่ 3
ความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่าน‘บริษัทนำเที่ยว’


บริษัทนำเที่ยวในประเทศไทยส่วนมากไม่ได้ถูกใช้เพื่อขนเงินข้ามประเทศ แต่มักถูกใช้บังหน้าเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ตัวอย่างคดีบริษัททรานลี่ฯ ดำเนินธุรกิจนำเที่ยวแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ และมีการเปิดบริษัทในเครือกว่า 17 บริษัท เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี มีการสวมบัตรประชาชนคนไทยเพื่อให้ได้สัญชาติไทย และจ้างบุคคลไทยเป็นนอมินีร่วมตั้งบริษัท การเปิดบัญชีธนาคารโดยใช้บัตรประชาชนปลอมและการใช้วิธีสวมบัตรบุคคลที่เสียชีวิต เพื่อใช้เป็นช่องทางการโอนเงินระหว่างบัญชีส่วนตัวและบัญชีนิติบุคคลในเครือ อีกทั้งแจ้งกรมสรรพากรว่าไม่มีรายได้ที่จะต้องเสียภาษี ซึ่งคณะผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีสำนักบัญชีให้ความช่วยเหลือในการตกแต่งบัญชีเพื่อลดภาระภาษี

 

สภาพปัญหา


-พ.ร.บ.นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 เน้นเพียงกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการ และยังไม่มีมาตรการป้องกันปราบปรามการใช้บริษัทนำเที่ยวเป็นช่องทางการฟอกเงิน
-บริษัทนำเที่ยวถูกใช้บังหน้าเพื่อขนเงินสดข้ามแดน การพาคนไปเล่นการพนัน หรือถูกใช้ในการฉ้อโกงประชาชน
-ปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งประเทศไทยมีช่องทางผ่านแดนมากถึง 97 แห่ง และประเทศเพื่อนบ้านมีกาสิโนถูกกฎหมายกว่า 21 แห่ง ซึ่งกาสิโนมักเป็นแหล่งที่ถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน

 

รูปแบบที่ 4
ความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่าน‘ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย’


ไม่พบคดีในประเทศไทยแม้คนไทยจะนิยมไปจดทะเบียนตั้งทรัสต์ในต่างประเทศก็ตาม กรณีตัวอย่างในต่างประเทศ เจ้าของเงินที่แท้จริงอาจหานอมินีไปตั้งทรัสต์ โดยระบุให้ตนเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกองทรัสต์
ตัวแทนหรือนอมินีที่จดจัดตั้งทรัสต์ให้ทรัสตี (ผู้บริหารกองทรัสต์) นำเงินในกองทรัสต์ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือไปซื้อหุ้นประเภทหุ้นไม่ระบุชื่อผู้ถือ

 

สภาพปัญหา


-ไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลทรัสต์ จึงไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่จะดำเนินการตรวจสอบสถานะของผู้บริหารจัดการทรัพย์สิน (ทรัสตี) และไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินและผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงได้
-เจ้าของทรัพย์สิน (settlor) และผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (beneficiary) ไม่ใช่ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามกฎหมาย จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ฟอกเงินใช้ทรัสต์อำพรางเจ้าของเงินที่แท้จริงหรือผู้รับผลประโยชน์
-ไม่ทราบแหล่งที่มาของเงิน จึงเป็นจุดเสี่ยงที่ทรัสต์อาจถูกใช้เป็นช่องทางการฟอกเงินของผู้กระทำความผิดได้

 

รูปแบบที่ 5
ความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่าน ‘การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกง’


ตัวอย่างคดีบริษัท โอดี แคปปิตอล จำกัด (ความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชนและอั้งยี่) โดยบริษัท โอดีฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศ และเข้ามาดำเนินกิจการในไทย โดยไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการลงทุนจากและการประกอบกิจการขายตรงและตลาดแบบตรง
นำเงินจากการหลอกลวงประชาชนไปซื้อสลากออมสิน และนำสลากออมสินไปใช้ประกันการชำระหนี้ในการทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคาร
นำเงินไปลงทุนเปิดกิจการในไทยเพื่อต่อยอดการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเปิดร้านขายเพชรรวมทั้งเปิดบริษัท เพื่อนำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดปะปนกับเงินที่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้บัญชีของกลุ่มผู้กระทำความผิดเป็นตัวกลางรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากธนาคาร

สภาพปัญหา


-อัตราโทษไม่ได้สัดส่วนกับมูลค่าความเสียหาย เช่น ระยะเวลาที่ถูกจำคุกน้อย ทำให้ต้นทุนการกระทำความผิดน้อยกว่าผลประโยชน์ที่อาชญากรได้รับ
-อายุความการดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชนมีระยะเวลาจำกัด ทำให้ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำ ความผิดที่หลบหนีคดีได้
-หน่วยงานกำกับดูแลมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนซ้ำซ้อน ขอบเขตงานขาดความชัดเจน ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี
-ไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพชัดเจน ขาดจุดบริการเบ็ดเสร็จในที่เดียว (on stop service) เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากการถูกฉ้อโกง
-ทรัพย์สินที่ได้จากการฉ้อโกงมักถูกนำไปกลบเกลื่อนร่องรอยได้หลากหลายรูปแบบ
-การย้ายเงินออกนอกประเทศ
-การเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล
-การใช้นอมินีเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินจากการกระทำความผิดแทนอาชญากร

 

รูปแบบที่ 6
ความเสี่ยงของการฟอกเงินผ่าน‘องค์กรไม่แสวงหากำไร’


ตัวอย่างคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีการยักยอกเงินฝากจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และนำเงินที่ได้สั่งจ่ายเป็นเช็คให้แก่มูลนิธิบางแห่ง
มีการบริจาคเงินหรือที่ดินให้มูลนิธินำไปลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น อาคารบุญรักษา อาหารลูกโลก อาคารมหารัตนวิหารคด แม้ตัวการจะไม่ได้รับเงินจากมูลนิธิโดยตรง แต่จะได้รับประโยชน์ทางอ้อม เช่น การมีชื่อเสียงหรือการมีบทบาทในวัด สามารถชักชวนคนมาลงทุนได้เพิ่มขึ้น

สภาพปัญหา


-ประเภทกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีอาจจะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีเป็นจำนวนมาก และเคยมีคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินในองค์กรด้านการศึกษา และองค์การเอกชนต่างประเทศ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีรายรับต่อหน่วยงานค่อนข้างสูง
-ผู้บริหารหรือกรรมการขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะกรรมการต่างประเทศที่มีสัญชาติอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
-การขาดมาตรการควบคุมภายในและการส่งเสริมความโปร่งใสขององค์กรไม่แสวงหากำไร
-กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มุ่งเน้นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เข้าข่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้ายเป็นหลัก โดยให้อำนาจสำนักงาน ปปง. สามารถระงับกิจกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบหรือสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรรายงานข้อมูล

 

การกำกับดูแล


-ขาดกระบวนการตรวจสอบกรรมการและข้อบังคับของมูลนิธิและสมาคม การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานและรายงานการเงินของมูลนิธิ
-ขาดการรวบรวมและจัดทำสถิติองค์กรไม่แสวงหากำไรทั่วประเทศ และยังไม่มีการเปิดเผยฐานข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรต่อสาธารณชน
-ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลของมูลนิธิ
-ข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยกำกับดูแล ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบองค์กรไม่แสวงหากำไรได้ครบทุกแห่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง