รัฐสภายุโรปผ่านกฏหมายบังคับใช้พอร์ต USB Type-C แบบท่วมท้น
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปและคณะรัฐมนตรี ได้บรรลุข้อตกลงชั่วคราวระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป กับอีก 27 ประเทศในเครือสหภาพยุโรป ในการผ่านร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งกำหนดให้สมาร์ทโฟนและแกดเจ็ตที่วางขายในยุโรปจะต้องใช้พอร์ต USB Type-C เป็นมาตรฐานเดียวกัน ล่าสุดในสัปดาห์นี้ นโยบายดังกล่าวคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อ รัฐสภายุโรปได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตรุ่นใหม่ ๆ จะต้องเปลี่ยนมาใช้พอร์ต USB Type-C เป็นพื้นฐาน โดยกฎดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2023 และต้องแก้ไขอุปกรณ์ที่จะวางจำหน่ายให้แล้วเสร็จภายในช่วงก่อนสิ้นปี 2024 เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายอุปกรณ์ในประเทศเครือสหภาพยุโรปได้ ส่วนอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น แลปทอป จะมีการยืดเวลาให้ไปถึงปี 2026 โดยกฎหมายฉบับนี้ มีสมาชิกรัฐสภายุโรป 602 คนโหวตเห็นด้วย และมีเพียง 13 คนที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ส่วนอีก 8 คน งดออกเสียง
ในตอนแรก Apple ไม่พอใจกับมตินี้ และชี้ว่า กฎหมายนี้จะลิดรอนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ปัจจุบันแอปเปิลก็ได้หันมาทดสอบ iPhone รุ่นใหม่ที่ปรับมาใช้สายชาร์จ USB-C มาตรฐาน แทนที่สายชาร์จแบบ Lightning ที่ใช้มานาน ขณะที่แล็ปท็อป Macbook และ iPad Pro รุ่นปัจจุบัน ได้ปรับไปใช้สายชาร์จ Type C แล้ว เช่นเดียวกับสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ (Android) รุ่นยอดนิยมส่วนใหญ่
สำหรับคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว โดย จุดประสงค์โดยรวมคือเพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยผู้บริโภคให้ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายราว 250 ล้านยูโร (ประมาณ 9,288 ล้านบาท) ต่อปี โดยผู้บริโภคจะไม่ต้องซื้อที่ชาร์จสำหรับอุปกรณ์แต่ละเครื่องเพิ่มเติม
ปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาหัวชาร์จ USB-C รุ่นใหม่ โดยปรับมาใช้ USB-C เป็นพอร์ตจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ในบ้านและสำนักงาน เช่น นาฬิกาปลุก โคมไฟ เครื่องปิ้งขนมปัง และเครื่องปั่น นอกจากนี้ยังมีข้อดีนอกเหนือจากการลดค่าใช้จ่าย และลดขยะ นั่นก็คือ สายชาร์จประเภทเดียวจะทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกันอย่างง่ายดาย ผ่านระบบ Internet of Thing (IoT) โดยพอร์ต USB-C ยังเป็นระบบมาตรฐานของ IoT และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม การขนส่ง และภาคการแพทย์อีกด้วย
ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ Reuters