รีเซต

อัฟกานิสถาน : ผู้พิพากษาหญิงอัฟกันกำลังถูกฆาตกรที่พวกเขาเคยตัดสินคดีไล่ล่า หลังตาลีบันมาปกครอง

อัฟกานิสถาน : ผู้พิพากษาหญิงอัฟกันกำลังถูกฆาตกรที่พวกเขาเคยตัดสินคดีไล่ล่า หลังตาลีบันมาปกครอง
ข่าวสด
29 กันยายน 2564 ( 09:59 )
33

ผู้หญิงเหล่านี้อยู่แถวหน้าของผู้เรียกร้องสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน เป็นผู้ปกป้องกฎหมายและผดุงความยุติธรรมให้กับกลุ่มคนชายขอบในประเทศ

 

 

แต่ตอนนี้ ผู้พิพากษาหญิงชาวอัฟกันมากกว่า 220 คนกำลังหลบซ่อนเพราะกลัวโดนแก้แค้นหลังจากกลุ่มตาลีบันขึ้นครองอำนาจ

 

 

อดีตผู้พิพากษาหญิง 6 คน คุยกับบีบีซีจากที่หลบซ่อน 6 แห่งทั่วประเทศ เราได้เปลี่ยนชื่อบุคคลเหล่านี้เพื่อรักษาความปลอดภัยของพวกเธอ

 

 

ตลอดอาชีพการเป็นผู้พิพากษา มาซูมาพิพากษาชายมาหลายร้อยคนในคดีกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน ทรมาน และฆาตกรรม

 

 

การขู่ฆ่าเริ่มต้นขึ้นไม่กี่วันหลังจากตาลีบันเข้ายึดอำนาจและอาชญากรหลายร้อยคนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ

 

 

เธอได้รับทั้งข้อความตัวหนังสือ ข้อความเสียง และโทรศัพท์จากเบอร์ที่เธอไม่รู้จัก

G

"เราได้ยินข่าวว่าตาลีบันปล่อยนักโทษทั้งหมดออกจากเรือนจำตอนเที่ยงคืน" มาซูมา เล่า "จากนั้นเราก็เริ่มหนีทันที ทิ้งบ้านและทุกอย่างไว้เบื้องหลัง"

 

 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงอัฟกัน 270 คนทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในอัฟกานิสถาน พวกเขาเป็นบุคคลสาธารณะในฐานะที่เป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ทรงอิทธิพลและโดดเด่นที่สุดในประเทศ

 

 

"ตอนนั่งรถออกจากเมือง ฉันใส่ชุดบูร์กาเพื่อให้ไม่มีใครรู้ว่าฉันคือใคร โชคดีที่เราผ่านด่านตรวจของตาลีบันทั้งหมดมาได้"

 

 

หลังเธอออกจากบ้านไปได้ไม่นาน เพื่อนบ้านส่งข้อความมาบอกว่าสมาชิกกลุ่มตาลีบันหลายคนมาที่บ้านของเธอ

G

มาซูมาเล่าว่า ทันทีที่เพื่อนบ้านอธิบายลักษณะของกลุ่มผู้ชายเหล่านั้น เธอก็รู้ทันทีว่าใครกำลังตามตัวเธอ

 

 

หลายเดือนก่อนที่ตาลีบันจะขึ้นครองอำนาจ มาซูมาตัดสินคดีที่สมาชิกตาลีบันคนหนึ่งฆ่าภรรยาตัวเองอย่างโหดเหี้ยม

มาซูมาตัดสินว่าเขามีความผิดและลงโทษจำคุก 20 ปี

 

 

"ฉันยังจำภาพหญิงสาวคนนั้นได้เลย มันเป็นอาชญากรรมอันแสนโหดร้าย" มาซูมา เล่า

 

 

"หลังจากตัดสินคดี อาชญากรคนนั้นเดินมาหาฉันและพูดว่า "เมื่อผมได้ออกจากคุก ผมจะทำกับคุณแบบเดียวกับที่ผมทำกับภรรยา"..."

 

 

"ตอนนั้นฉันไม่ได้เก็บสิ่งที่เขาพูดมาคิดจริงจัง แต่หลังจากตาลีบันขึ้นสู่อำนาจ เขาก็โทรมาหาฉันหลายรอบโดยเอาข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับฉันมาจากสำนักงานศาล"

 

 

"เขาบอกฉันว่า "ผมจะตามหาคุณและแก้แค้น"..."

การสืบสวนโดยบีบีซีพบว่า มีผู้พิพากษาหญิงชาวอัฟกันอย่างน้อย 220 คนที่หลบซ่อนอยู่ทั่วอัฟกานิสถาน

 

เรื่องราวที่บีบีซีได้ฟังจากอดีตผู้พิพากษาหญิง 6 คนจากจังหวัดต่าง ๆ แทบจะเหมือนกันหมด

 

 

พวกเธอได้รับข้อความขู่ฆ่าจากสมาชิกตาลีบันที่ถูกพวกเธอตัดสินจำคุก มี 4 คนที่สามารถบอกชื่อผู้ชายที่พวกเธอตัดสินจำคุกเพราะฆ่าภรรยาตัวเอง ทุกคนล้วนเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์อย่างน้อยหนึ่งครั้งเพราะว่าโดนขู่ฆ่า และตอนนี้ก็กำลังหลบซ่อน และย้ายที่ทุก 2-3 วัน

 

 

และพวกเธอทุกคนบอกว่ามีสมาชิกกลุ่มตาลีบันไปหาที่บ้านและก็ไปพยายามถามเพื่อนและเพื่อนบ้านว่าพวกเธออยู่ที่ไหน

 

 

ไบลัล คารีมี โฆษกตาลีบันตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ผ่านบีบีซีว่า : "ผู้พิพากษาหญิงควรได้ใช้ชีวิตเหมือนกับครอบครัวอื่น ๆ โดยไม่ต้องกลัว ไม่ควรมีใครไปข่มขู่พวกเขา หน่วยทหารพิเศษเราต้องสืบสวนคำร้องเหล่านี้ และจะจัดการทันทีหากพบการละเมิด"

 

 

เขาย้ำอีกครั้งว่าจะมีการ "นิรโทษกรรมเป็นวงกว้าง" ต่อผู้ที่เคยทำงานให้รัฐบาลทุกคนทั่วประเทศ

 

 

"การนิรโทษกรรมเป็นวงกว้างของเรา ทำไปอย่างจริงใจ แต่หากมีคนอยากยื่นเรื่องขอออกนอกประเทศ คำร้องขอของเราก็คือ ขอให้พวกเขาอย่าทำ และอยู่ในประเทศต่อไป"

G

ตอนที่มีการปล่อยตัวนักโทษครั้งใหญ่ มีอาชญากรที่ไม่เกี่ยวข้องกับตาลีบันได้รับการปล่อยตัวด้วย

 

เมื่อถามถึงความปลอดภัยของผู้พิพากษาหญิงเหล่านี้ คารีมีบอกว่า:

 

"ในกรณีของผู้ลักลอบค้ายา สมาชิกแก๊งมาเฟีย เราตั้งใจที่จะทำลายล้างพวกเขา เราจะจัดการพวกเขาอย่างจริงจัง"

ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาสูงเหล่านี้เป็นคนหารายได้ให้กับครอบครัว แต่ตอนนี้พวกเขาไม่มีเงินเดือนแล้ว และบัญชีธนาคารก็ถูกอายัด ต้องคอยขอเงินช่วยเหลือจากญาติ

 

 

ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซานา เป็นผู้พิพากษาคดีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เธอเล่าว่าคดีส่วนใหญ่เป็นการตัดสินโทษสมาชิกกลุ่มตาลีบันและก็กลุ่มไอเอสด้วย

 

"ตั้งแต่ผู้ต้องขังถูกปล่อยตัว ฉันได้รับโทรศัพท์ขู่ฆ่ากว่า 20 สายแล้ว"

 

ซานาบอกว่าตอนนี้กำลังหลบซ่อนอยู่กับสมาชิกครอบครัวอีกกว่า 10 คน

 

มีครั้งเดียวที่ญาติผู้ชายของเธอกลับไปที่บ้านเก่า ขณะที่กำลังเก็บเสื้อผ้าอยู่ มีสมาชิกกลุ่มตาลีบันพกอาวุธหลายคนมาพร้อมกับผู้บังคับบัญชา

 

"ผมเปิดประตู เขาถามผมว่านี่บ้านผู้พิพากษาใช่ไหม" เขาเล่า "พอผมบอกว่าผมไม่รู้ว่าเธออยู่ไหน พวกเขาก็โยนตัวผมกระแทกกับบันได มีคนหนึ่งใช้ท้ายกระบอกปืนฟาดผม และก็เริ่มทุบตีผม จมูกและปากผมเต็มไปด้วยเลือด"

 

หลังจากสมาชิกตาลีบันจากไป ญาติของซานาคนนี้ต้องไปที่โรงพยาบาลเอง

"ผมบอกกับญาติอีกคนว่าเราต้องเปลี่ยนที่อยู่ของน้องสาวคนนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีทางอื่นแล้ว เราไม่สามารถหนีไปประเทศอื่นได้ แม้แต่ปากีสถาน"

 

 

สู้เพื่อสิทธิสตรี

G

หลายทศวรรษมาแล้ว อัฟกานิสถานจัดว่าเป็นประเทศที่ผู้หญิงอยู่ยากที่สุด ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเมินว่ามีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงถึง 87% ที่เคยถูกละเมิดในช่วงชีวิต

 

 

แต่ผู้พิพากษาหญิงเหล่านี้พยายามที่จะรักษากฎหมายเก่าที่ให้การสนับสนุนผู้หญิง ส่งเสริมให้เห็นว่าการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ

 

 

อาชญากรรมเหล่านี้ได้แก่ การข่มขืน การทรมาน การบังคับแต่งงาน รวมถึงกรณีที่ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ให้ไปทำงานหรือไปโรงเรียนด้วย

 

 

และอดีตผู้พิพากษาเหล่านี้ก็บอกว่าพวกเขาโดนคุกคามมาตลอด ตั้งแต่ก่อนตาลีบันจะขึ้นสู่อำนาจแล้ว

 

 

"ฉันอยากจะรับใช้ชาติ ฉันถึงได้มาเป็นผู้พิพากษา" แอสมา ซึ่งกำลังหลบซ่อนอยู่ เล่า

 

 

"ในศาลครอบครัว ส่วนใหญ่ฉันทำคดีที่ผู้หญิงอยากจะหย่าร้างจากสามีที่เป็นสมาชิกกลุ่มตาลีบัน"

 

 

"นี่ทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงมาก มีครั้งหนึ่ง กลุ่มตาลีบันถึงกับยิงจรวดโจมตีมาที่ศาล"

 

"นอกจากนี้ เราก็เสียเพื่อนสนิทที่เป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งด้วย เธอหายตัวไประหว่างเดินทางจากบ้านมาศาล ต่อมาถึงได้มีการไปพบร่างเธอเข้า"

 

 

ไม่มีใครถูกดำเนินคดีจากการสังหารผู้พิพากษาหญิงในครั้งนั้น ในตอนนั้น สมาชิกตาลีบันในพื้นที่ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องที่เกิดขึ้น

 

 

ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าคณะผู้ปกครองประเทศชุดใหม่จะจำกัดสิทธิของผู้หญิงแค่ไหน แต่ถึงแค่ตอนนี้ก็ดูไร้ความหวังเสียแล้ว

 

 

คณะรัฐมนตรีชั่วคราวเป็นผู้ชายทั้งหมด และก็ไม่มีการแต่งตั้งใครมาดูแลด้านกิจการสตรี และกระทรวงศึกษาธิการก็สั่งให้ครูและนักเรียนที่เป็นผู้ชายเท่านั้นที่สามารถกลับไปโรงเรียนได้

 

 

นายคารีมีบอกว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบอะไรได้เกี่ยวกับอนาคตของผู้พิพากษาผู้หญิง เพราะยังถกเถียงเรื่องสภาพแวดล้อมและโอกาสในการทำงานของผู้หญิงอยู่

 

 

ถึงตอนนี้ มีการอพยพชาวอัฟกันออกจากประเทศไปแล้วมากกว่า 1 แสนคน

 

 

B

อดีตผู้พิพากษาทั้ง 6 คนบอกว่ากำลังมองหาวิธีหนีออกจากประเทศ แต่นอกจากจะไม่มีเงินทุนแล้ว ญาติใกล้ชิดของพวกเขาก็ไม่ได้มีหนังสือเดินทางกันทุกคน

 

 

มาร์เซีย บาบาคาร์กเฮล อดีตผู้พิพากษาชาวอัฟกัน ซึ่งตอนนี้อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรแล้ว พยายามเรียกร้องให้มีการช่วยอพยพผู้พิพากษาหญิงชาวอัฟกันทั้งหมดออกจากประเทศ

 

 

เธอบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่ลืมคนที่อยู่ต่างจังหวัดซึ่งห่างไกลจากกรุงคาบูล

 

 

"หัวใจฉันแตกสลายตอนได้รับโทรศัพท์จากผู้พิพากษาคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เธอบอกว่า "มาร์เซีย เราจะทำยังไงดี เราจะไปไหนดี อีกไม่นานเราคงจะต้องถูกฝังในหลุมศพ"..."

 

 

มาร์เซียบอกว่าคนเหล่านี้ต่างจากผู้พิพากษาในกรุงคาบูลที่ยังเข้าถึงสื่อและอินเทอร์เน็ตได้ และหลายคนก็ไม่มีหนังสือเดินทางและเอกสารในการยื่นเรื่องของย้ายออกจากประเทศ

 

 

หลายประเทศ รวมถึงนิวซีแลนด์และสหราชอาณาจักร ได้ออกมาบอกว่าจะให้การช่วยเหลือแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้พิพากษากี่คนจะได้รับการช่วยเหลือ และจะช่วยเมื่อไหร่

 

 

มาซูมา บอกว่า เธอกังวลว่าความช่วยเหลือที่ว่าจะมาสายเกินไป

 

 

"บางทีฉันก็คิดขึ้นมาว่า ความผิดอาญาของเราคืออะไร เพราะมีการศึกษาหรือ หรือเพราะช่วยเหลือผู้หญิงแล้วลงโทษอาชญากร"

 

 

"ฉันรักประเทศของฉัน แต่ตอนนี้ฉันเป็นผู้ต้องขัง เราไม่มีเงิน เราไม่สามารถออกจากบ้านได้"

 

 

"ฉันมองดูลูกชายวัยเยาว์ของฉันแล้วก็ไม่รู้จะอธิบายกับเขายังไงว่าทำไมเขาไม่สามารถคุยกับเด็กคนอื่น หรือออกไปเล่นที่ทางเดินข้างนอกได้ ตอนนี้เขาได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจไปแล้ว"

"ฉันได้แต่ภาวนาให้ถึงวันที่เราจะเป็นอิสระอีกครั้ง"

+++++

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง