รีเซต

ท่อส่งปลา “Salmon Cannon” ช่วยปลาอพยพข้ามถิ่นอย่างปลอดภัยความไวสูง

ท่อส่งปลา “Salmon Cannon” ช่วยปลาอพยพข้ามถิ่นอย่างปลอดภัยความไวสูง
TNN ช่อง16
25 มกราคม 2567 ( 10:47 )
62

วูช อินโนเวชัน (Whooshh Innovations) จากประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนานวัตกรรม “ไฮเปอร์ลูป” สำหรับปลาโดยมันเป็นนวัตกรรมท่อส่งปลา ที่จะช่วยให้พวกมันย้ายถิ่นได้ ด้วยการไหลไปตามท่อ เพื่อไปโผล่ยังจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาเดินทางข้ามแม่น้ำหรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เช่น เขื่อน หรือทางน้ำแห้ง และอพยพไปอีกฝั่งที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย 

ภาพจาก Whooshh Innovations

 

นวัตกรรมท่อส่งปลานี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วูช ทรานสปอร์ต ซิสเต็ม (Whooshh Transport System) หรือที่รู้จักกันในชื่อตามคลิปไวรัลบนโลกออนไลน์ว่า "แซลมอน แคนนอน" (Salmon Cannon) เนื่องจากในช่วงแรก ๆ ผู้ผลิตได้ใช้ท่อเหล่านี้ ในการส่งปลาแซลมอนข้ามฝั่งไปวางไข่ ส่วนคำว่า แคนนอน (Cannon) หรือปืนใหญ่ ก็มาจากลักษณะของการบรรจุปลาเข้าใส่ท่อ และยิงออกไปด้วยความเร็ว คล้ายกับกระสุนปืนใหญ่นั่นเอง


หลักการทำงานพื้นฐานของท่อส่งปลานี้ จะใช้ท่อพลาสติกแบบยืดหยุ่นเชื่อมต่อกับปั๊มลมแบบมอเตอร์ โดยปลายด้านหนึ่งของท่อจะอยู่ที่จุดส่งปลา และอีกด้านจะอยู่ในแหล่งน้ำที่ต้องการส่งไป ทั้งนี้ระบบที่ใช้ในยุคแรก ๆ จะใช้การบรรจุปลาเข้าท่อทีละตัวด้วยมือ เพื่อให้แรงดันอากาศภายในท่อช่วยดูดปลาให้ไหลไปตามท่อ ด้วยความเร็วประมาณ 5 - 10 เมตรต่อวินาที 

ภาพจาก Whooshh Innovations

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ บริษัทได้มีการปรับปรุงระบบแล้วเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการบรรจุปลาแต่ละตัว และช่วยลดความเครียดและอาการบาดเจ็บของปลา ด้วยการสร้างรางน้ำ ฟิชเวย์ (Fishway) ซึ่งจะปล่อยน้ำให้ไหลอย่างต่อเนื่อง ตัวปลาก็จะถูกดึงดูดเข้าหาน้ำที่ไหลโดยสัญชาตญาณ โดยว่ายขึ้นไปบนรางน้ำ ในลักษณะเดียวกับที่พวกมันพยายามว่ายข้ามฝาย


จากนั้นปลาก็จะเคลื่อนที่ผ่านเครื่องสแกน ฟิชแอล เรคโคนิชัน (FishL Recognition) ซึ่งจะใช้กล้องหลายตัวถ่ายภาพปลาทั้งหมด 18 ภาพด้วยกันในเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาที ภาพเหล่านั้นจะถูกวิเคราะห์ทันทีโดยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยตรวจสอบสายพันธุ์ ขนาด และลักษณะอื่น ๆ ของปลา


วิธีนี้การนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักชีววิทยา สามารถติดตามได้ว่ามีปลาประเภทใดบ้างที่จะเดินทางไปยังแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถคัดแยกปลาที่ไม่ต้องการออกได้ด้วย 


เช่น หากระบบตรวจพบพันธุ์ปลาที่ไม่ต้องการ ก็จะสั่งเปิดประตู เปลี่ยนเส้นทางปลาให้ไหลลงสู่คอกกักเก็บ เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนปลาที่ผ่านการคัดกรอง ก็จะไหลเข้าสู่ระบบท่อลม ซึ่งใช้แรงดันอากาศต่ำในการดันปลาผ่านท่อ โดยจะมีระบบช่วยหล่อลื่น ปกป้องปลาจากการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พวกมันไหลไปตามท่อไปยังจุดหมาย


อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าผลงานท่อส่งปลานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยบริษัทได้พัฒนาระบบนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 และได้วางจำหน่ายระบบให้กับหน่วยงานรัฐบาลทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเรียบร้อยแล้ว โดยท่อส่งปลาที่ยาวที่สุดที่บริษัทเคยสร้างมามีความยาวมากกว่า 1,700 ฟุต หรือราว 520 เมตร




ข้อมูล newatlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง