รีเซต

แรงงานกัมพูชาหนีโควิด-19 ในไทย ทะลักเข้าชายแดนล้นหลาม ตกงาน-ไร้เงิน

แรงงานกัมพูชาหนีโควิด-19 ในไทย ทะลักเข้าชายแดนล้นหลาม ตกงาน-ไร้เงิน
TNN World
6 สิงหาคม 2564 ( 17:59 )
52

Editor’s Pick: แรงงานกัมพูชาหนีโควิด-19 ในไทย ทะลักเข้าชายแดนล้นหลาม ตกงาน-ไร้เงิน หวั่นถูกทอดทิ้งติดเชื้อไม่มีที่รักษา 
นับตั้งแต่ไทย พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปิดชายแดนตามจังหวัดต่าง ๆ ทำให้แรงงานชาวกัมพูชากว่า 2.15 แสนคน ต้องรีบเดินทางกลับบ้านเกิด โดยพวกเขากลัวว่า หากติดเชื้อโควิด-19 ในไทย พวกเขาจะไม่ได้รับการรักษาดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับพลเมืองไทย 

 

 


แม้รู้ว่าผลตรวจเป็น 'บวก' แต่ขอกลับบ้านเกิด


วานน์ ธอเอิร์น ภรรยาและลูกชายของเขา รอดชีวิตจากไซต์งานก่อสร้างในไทยเป็นเวลาหลายเดือน แม้พวกเขาจะไม่มีงานทำหรือไม่มีเงินเดือนเลย 

 


พวกเขาทำงานตามจุดพัฒนาต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลา 6 ปี แต่เมื่องานก่อสร้างเริ่มล่าช้า หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาจึงตัดสินใจออกจากไทย โดยใช้เงินเก็บของพวกเขาซื้อตั๋วรถทัวร์กลับกัมพูชา เพื่อไปหาครอบครัวของเขาในจังหวัดกำปงจาม 

 


ธอเอิร์น วัย 41 ปี จำได้ว่าภรรยาของเขา มีปัญหาเรื่องการหายใจก่อนวันเดินทาง เธอมีผลตรวจเป็นบวก ซึ่งหมายความว่า ภรรยาของเขาติดเชื้อโควิด-19 แต่พวกเขาเลือกจะเก็บผลตรวจดังกล่าวไว้เป็นความลับ โดยตั๋วรถทัวร์ระบุเวลาเดินทางออกจากกรุงเทพฯ คือ วันที่ 25 กรกฎาคม และข้ามไปฝั่งกัมพูชาในวันเดียวกัน 

 

 


“เราตัดสินใจไม่บอกให้คนอื่นรู้ว่า ‘เรามีผลตรวจเป็นบวก’ เรากลัวว่าพวกเขาจะไม่ให้เราขึ้นรถ ถ้าพวกเขารู้ว่าเราติดเชื้อ” ธอเอิร์น กล่าว โดยตอนนี้เขายังคงอยู่ในศูนย์กักตัวในจังหวัดไพลิน กัมพูชาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ 

 


“ที่ไทย พวกเขาไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและจัดเตรียมการรักษาได้ และเราไม่ได้ถูกจัดลำดับให้ความสำคัญ เพราะว่าพวกเขาต้องดูแลประชาชนของเขาก่อน” เขา กล่าว 

 


ไม่ใช่แรงงานทุกคนจะกลับบ้านได้ 


ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกัมพูชามีราคาประมาณ 4,000 บาท แรงงานหลายคนที่กลับมา ไม่มีเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงหากติดเชื้อโควิด-19 ในไทย และไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ 

 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่กัมพูชาหลายคนตอบสนองต่อกรณีการติดเชื้อในกลุ่มคนที่อพยพมาจากไทย ด้วยการปิดพรมแดน และเพิ่มข้อจำกัดในจังหวัดที่ใกล้เคียงกัน 

 


ด้วยเหตุนี้ ทำให้แรงงานอพยพชาวกัมพูชา ต้องเผชิญปัญหามากมายในตอนนี้ ทั้งการว่างงานอย่างไม่มีกำหนดในไทย หรือสถานที่กักกันที่อันตรายและไม่ถูกสุขลักษณะ เมื่อกลับมายังกัมพูชา   

 


หลังจากที่ข้ามมายังจังหวัดไพลิน ธอเอิร์นและครอบครัว ถูกตรวจหาเชื้อและให้พักอยู่ในห้องที่มีคนอยู่รวมกันประมาณ 20 คน เขาไม่แน่ใจว่า ‘เขาจะหาเลี้ยงชีพตัวเองอย่างไรในกัมพูชา’ แต่เขาก็รู้สึกยินดีที่เขาสามารถหาซื้อตั๋วโดยสารได้ เพื่อเดินทางกลับบ้าน  
“ผมรู้สึกเสียใจกับคนอื่น ๆ หลายคน ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเดินทาง ในขณะที่เขาถูกเลิกจ้างมาเป็นเวลา 3-4 เดือนแล้ว และเงินของพวกเขาที่หามาได้ก็ถูกส่งกลับไปยังบ้าน ตอนนี้พวกเขายังคงอยู่ในไทยด้วยความอดอยาก และป่วยจากโรคโควิด-19 และไม่มีใครสักคนที่จะช่วยให้เขาได้กลับมายังประเทศแม่ เพื่อเข้ารับการรักษา” ธอเอิร์น กล่าว 

 


แรงงานหนีกลับบ้านเกิดมากขึ้น


จากรายงานของ คริสติน ปาร์โก หัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM ในกัมพูชา บอกว่า ตัวเลขชาวกัมพูชาที่กลับจากไทยมีจำนวนมากจาก 6,876 คนในเดือนเมษายน เป็น 12,509 คนในเดือนมิถุนายน 

 


เจ้าหน้าที่ของ IOM บอกด้วยว่า เธอเห็นแรงงานอพยพเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองหรือสามเท่าจากเดือนที่แล้ว ก่อนจะมีการตั้งจุดตรวจสำคัญในบางแห่ง 

 


“ตั้งแต่ไทยเริ่มควบคุมโควิด-19 ด้วยการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปิดชายแดนในเดือนมีนาคม 2020 แรงงานอพยพชาวกัมพูชามากกว่า 2.15 แสนคน ข้ามฝั่งจากไทยมากัมพูชา” ปาร์โก กล่าว

 


ปาร์โก กล่าวอีกว่า แรงงานหลายคนเดินทางกลับผ่านจุดตรวจอย่างไม่เป็นทางการ หรือต้องประสบกับสภาพแออัดเมื่อถูกกักกันอย่างเป็นทางการ เป็นช่องว่างปัจจุบัน ในการดำเนินงานตามนโยบายสาธารณสุขในกัมพูชา ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสไปทั่วประเทศ

 

 

ศูนย์กักกันชายแดนเริ่มเต็ม


ปาร์โก กล่าวว่า จำนวนตัวเลขผู้อพยพปัจจุบัน ทำให้ระบบช่วยเหลือกำลังถูกกลืนกิน โดยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่ชายแดน เพื่อหาชุด PPE และเสริมสร้างศักยภาพเพิ่มเติม และให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้อพยพที่มาถึงจุดเข้าเมือง และผู้ที่อยู่ในสถานกักกัน

 


ทาง IOM ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของเอกสาร, การเก็บรวบรวมข้อมูล และจัดหาชุด PPE ตลอดจนช่วยพัฒนานโยบายของสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อตอบสนองต่อการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานอพยพ

 


“ศูนย์กักกันตามจังหวัดชายแดนเริ่มเต็ม ทำให้ค่อนข้างกังลงในเรื่องสุขอนามัย, ความปลอดภัยจากการขนส่ง และการเข้าถึงการรักษา” เธอ กล่าว 

 


ปาร์โก ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีความเสี่ยงแพร่เชื้อในสถานที่กักกันเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น โรงเรียน ไม่มีสถานกักกันที่เหมาะสม และผู้อพยพบางคนมีผลตรวจเป็นบวกก่อนจะมาถึงที่นี่

 

 

ไทยปิดชายแดน แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เคยลง


แม้ชายแดนจะถูกปิด แต่แรงงานอพยพกัมพูชายังคงเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ขณะที่ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยพรั่งพรูมากขึ้นจากวันละ 4,000 คนต่อวันในเดือนมิถุนายน กลายเป็น 20,000 คนต่อวันเมื่อวันพุธ (4 สิงหาคม) ที่ผ่านมา
ในทางกลับกัน กัมพูชามีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ลดลง โดยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 560 คนในวันจันทร์ (2 สิงหาคม) ที่ผ่านมา ลดลงอย่างมากจากจุดสูงสุดในวันที่ 30 มิถุนายน ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ 1,130 คน 

 


แต่ถึงอย่างไร นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา แสดงออกถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดเชื้อสายพันธุ์ Delta หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวจำนวน 223 คนในคืนวันอาทิตย์ (1 สิงหาคม) ส่วนกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีการออกความเห็นใดต่อเรื่องดังกล่าว  

 


“มันเป็นสถานการณ์ที่มืดมน”


“มันเป็นสถานการณ์ที่มืดมน พวกเขาไม่สามารถไปไหนได้ พวกเขาไม่สามารถตั้งถิ่นฐานหรือมีอาหารที่เพียงพอ” เลิง โสภณ เจ้าหน้าที่ของศูนย์กลุ่มสิทธิแรงงานชาวกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าว 

 


แรงงานกัมพูชาบางคน ยังคงติดอยู่ตรงจุดตรวจชายแดน หลังจากพวกเขาพยายามจะข้ามกลับเข้าประเทศบ้านเกิด และจุดตรวจบางแห่งต้องสร้างหอพักชั่วคราวขึ้น โดยทางการไทยหันหลังให้กลับประชาชน 

 


“เมื่อวันอังคาร (3 สิงหาคม) มีคนโทรหาผมกว่า 100 คน โดยบอกว่าพวกเขาอยู่ที่ถนน และไม่มีที่พักอาศัย” โสภณ กล่าว

 


ทุกอย่างคือ ‘เงินทอง’ แม้แต่ยาแก้ปวด 


กอบ เซ พอร์ คนขายอาหารวัย 31 ปี เป็นอีกคนที่ตัดสินใจเดินทางออกจากไทย เพื่อกลับบ้านเธอในสีหนุวิลล์ เมื่อเดือนมิถุนายน เธอได้งานทำกับพ่อค้าคนหนึ่งในจังหวัดระยอง 

 


วันแรกของการทำงานสามีเธอขับรถชน ในขณะที่เธอนั่งซ้อนท้ายอยู่บนมอเตอร์ไซค์ของพวกเขา ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ขา เธอได้รับการผ่าตัดในไทย แต่เธอต้องการกลับมารักษาตัวต่อที่กัมพูชามากกว่า 

 


เธอใช้เวลาราว 3 สัปดาห์ในศูนย์กักตัวในจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา แต่เธอก็ไม่ได้รับการรักษาในทันทีสำหรับอาการบาดเจ็บของเธอ 

 


เธอไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือใช้ห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง แต่แม่ของเธอได้รับอนุญาตให้เข้ามาในศูนย์กักกันเพื่อมาดูแลเธอได้ 
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารของแม่เธอ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องแบ่งอาหารกินกัน

 


“เราไม่สามารถจ่ายค่าอาหารเพิ่มเติมได้ เพราะเงินฉันต้องจ่ายค่าเช่าบ้านในสีหนุวิลล์ เวลาที่ฉันต้องการยาแก้ปวด พวกเขาไม่ยอมให้ฉัน และถ้าต้องให้เขาเอามาให้ ฉันต้องจ่ายเงินกว่า 800 บาท” เธอ กล่าว

 


หวังขอให้ทุกอย่างดีขึ้น 


เซ พอร์ มุ่งมั่นที่จะกลับสีหนุวิลล์ ซึ่งกลุ่ม NGO ท้องถิ่น จะคอยช่วยจัดหาดูแลการรักษาและการผ่าตัดต่อไปได้ หลังจากนั้น เธอวางแผนจะกลับไทย เพราะเธอต้องดูแลลูกทั้ง 2 คน และกังวลว่าสามีคนไทยจะทิ้งเธอไป 

 


เซ พอร์ กล่าวว่า ฉันหวังว่า ข้อจำกัดใหม่ของมาตรการล็อกดาวน์ จะไม่ห้ามให้ฉันกลับไปสีหนุวิลล์ หลังจากกักตัวอยู่ที่นี่ 3 อาทิตย์ 
“ฉันหวังด้วยว่า ในอีก 5 เดือน โควิด-19 จะเบาลง และฉันสามารถกลับไปหางานที่ไทยได้ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้กับลูกฉัน และมีรายได้หาเลี้ยงพวกเขา” เธอ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง