รู้จัก บัตรทอง สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ที่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
บัตรทอง ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
สิทธิบัตรทอง 30 บาท คือ ?
- สวัสดิการรักษาพยาบาลจากรัฐที่ให้ในการรักษาพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ใครมีสิทธิใช้บัตรทอง 30 บาท ?
- บุคคลสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
ใช้สิทธิอย่างไร ?
- ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำตัวของตนเองก่อน
ใช้สิทธิได้ที่ไหน ?
- เมื่อเจ็บป่วยใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาที่หน่วยบริการประจำของตนเอง เจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าที่หน่วยบริการอื่นได้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้
ใช้สิทธิได้นานแค่ไหน ?
- ใช้ได้ตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะเปลี่ยนไปใช้สิทธิรักษาอื่น เช่น เปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสังคมเนื่องจากทำงานประจำ หรือเปลี่ยนไปใช้สิทธิสวัสติการรักษาพยาบาลข้าราชการ
แนวทางการใช้สิทธิ
เมื่อลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หากการรักษาพยาบาลเกินศักยภาพของหน่วยบริการ แพทย์จะพิจารณาส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าตามภาวะความจำเป็นของโรค และสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี โดยแจ้งได้ที่สถานที่ลงทะเบียนและเริ่มใช้บริการที่แห่งใหม่ได้ทันที รวมทั้ง สปสช. ได้เปิดช่องทางการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ หรือลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง/ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ด้วยตนเองทางออนไลน์ไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ Application สปสช. หรือ Line สปสช. (LINE ID: @nhso)
หากพักอาศัยในพื้นที่ (ปริมณฑล หรือ ต่างจังหวัด) สามารถติดต่อลงทะเบียนย้ายสิทธิได้ด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง หรือที่คุ้นเคยในชื่อสถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง รพ.รัฐใกล้บ้าน (ในพื้นที่อำเภอที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สปสช.เขต 1 – 12
หากพักในกรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือจุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม. ได้แก่ สำนักงานเขต 19 เขตของ กทม. โดยเมื่อลงทะเบียนแจ้งสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะเกิดสิทธิใหม่ทันที
เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน
เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ
อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองต้องเดินทาง เช่น กลับไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ถูกสุนัขกัด ถือเป็นอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในการทำแผลและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ แต่ให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อน และสามารถรับบริการได้ครบตามกำหนดของการรับวัคซีน เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปรับวัคซีนเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
(ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml)
นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยมี 6 กลุ่มอาการที่เข้าข่าย ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเวลา 72 ชั่วโมง ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถย้ายเข้าระบบหน่วยบริการได้ แต่หากปฏิเสธไม่ขอย้าย ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อไปเอง (หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) 02 872 1699 ตลอด 24 ชั่วโมง)
บริการที่คุ้มครองค่าใช้จ่าย
บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
การรักษาภาวะมีบุตรยากหรือการผสมเทียม การแปลงเพศ การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถซึ่งอยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด (ยกเว้นบางกรณี) โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน (ยกเว้นบางกรณี) การปลูกถ่ายอวัยวะ (ยกเว้นบางกรณี)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
- สายด่วน สปสช. 1330
- ช่องทางออนไลน์
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<