กรมวิทย์ฯ เผย โควิดสายพันธุ์เดลต้าลามแล้ว 76 จังหวัด กทม.พบถึง 95%
วันนี้ (10 ส.ค.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึง การเฝ้าระวังการระบาด และกลายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจทั่วประเทศประมาณ 1,600 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,500 ราย สายพันธุ์ที่เหลือกว่า 100 ราย เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า หรือ สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบต้า มี 4 ตัวอย่าง ซึ่งสายพันธุ์เบต้า พบในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ หากใช้สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นตัวแทนของสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ใน กทม. สายพันธุ์เดลต้า ครองพื้นที่ไป 95.4% ของการติดเชื้อใน กทม. ส่วนที่เหลือ 4% ที่เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ขณะที่ต่างจังหวัด หรือ ภูมิภาค สายพันธุ์เดลต้า แบ่งสัดส่วนไป 83.2 % อัลฟ่า 16 % และ เบต้า อีกเล็กน้อย ทำให้ภาพรวมของประเทศไทยในวันนี้ กว่า 92 % เป็นสายพันธุ์เดลต้า เพราะฉะนั้นสถานการณ์ก็คงเป็นสายพันธุ์เดลต้าที่เบียดแซงสายพันธุ์อัลฟ่า และต่อไปก็คงเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก เพราะมีอำนาจการแพร่เชื้อได้ง่าย
จากการสุ่มตรวจ ในปัจจุบันพบว่า 75 จังหวัด +1 คือ กรุงเทพ จะขาด จ.สุพรรณบุรี ที่ยังไม่พบสายพันธุ์เดลต้า เพราะอาจจะยังตรวจไม่เจอ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสายพันธุ์เดลต้า ใน จ.สุพรรณบุรี เพราะเป็นการสุ่มตรวจ ซึ่งขณะนี้อาจจะสรุปได้ว่า พบสายพันธุ์เดลต้า ครบทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่บุคคลพยายามไปตรวจภูมิคุ้มกัน หลังการฉีดวัคซีน แล้วนำมาบอกต่อว่า หลังตรวจภูมิแล้ว ขึ้นมาจำนวนหลัก 1,000 หรือบางคนขึ้นน้อย จึงอยากจะขอย้ำว่า การตรวจภูมิในลักษณะนั้น ไม่ได้บอกอะไร ไม่คุ้มที่จะไปตรวจ เพราะการตรวจเป็นการขึ้นของภูมิโดยภาพรวม ซึ่งไม่ได้บอกว่าภูมินั้น จะสามารถจัดการกับสายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อัลฟ่า ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นแค่การวัดว่ามีภูมิเกิดขึ้น และที่สำคัญ ห้องแลปแต่ละแห่ง มีค่าของตัวเลขแตกต่างกันไป
และที่สำคัญ องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้กำหนดว่า หากเป็นประเภทนี้ เซ็ตไว้แค่นี้แล้วขึ้นไปแค่ไหน มันถึงจะเรียกว่าป้องกันโรคได้ แต่ที่เคยย้ำว่า การป้องกันโรคได้ ก็อาจจะกันสายพันธุ์เดิมได้ แต่กันสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้
นพ.ศุภกิจ แนะนำด้วยว่า หากจะไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนให้ถามกับเจ้าหน้าที่ที่จะไปตรวจว่า ที่ตรวจใช่ "นิวเทอร์ไรซ์ซิ่ง แอนตี้บอดี้" หรือไม่ เป็นภูมิคุ้มกันที่จะกำจัด หรือ ป้องกันโรคหรือไม่ หากเป็นภูมิโดยทั่วๆไป ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปเสียเงินตรวจ และเมื่อตรวจออกมา ภูมิขึ้นไม่มาก ก็จะไม่สบายใจ แต่หากขึ้นมากก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันโรคได้ เพราะฉะนั้นขอให้มีการทำความเข้าใจ เพราะในระยะหลังมีการชักชวนกันไปตรวจมากมายทั้งที่ไม่มีความจำเป็น สิ่งเหล่านี้จึงอยากจะย้ำเตือนให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนที่จะไปตรวจภูมิคุ้มกัน