รีเซต

นาซาเผยภาพ “แม่น้ำทองคำ” ในพื้นที่ลักลอบทำเหมืองกลางป่าแอมะซอน

นาซาเผยภาพ “แม่น้ำทองคำ” ในพื้นที่ลักลอบทำเหมืองกลางป่าแอมะซอน
ข่าวสด
12 กุมภาพันธ์ 2564 ( 13:29 )
133

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา เผยภาพน่าตื่นตะลึงที่บันทึกได้จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) โดยภาพที่มองมาจากนอกโลกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามี "แม่น้ำทองคำ" หลายสาย กำลังไหลผ่านใจกลางผืนป่าแอมะซอนในเขตแดนของประเทศเปรู

ทว่าภาพที่ปรากฏเป็นแม่น้ำสายใหญ่ สะท้อนแสงอาทิตย์เป็นประกายทองดูระยิบระยับงดงามนั้น กลับไม่ใช่แม่น้ำที่มีอยู่จริงแต่อย่างใด แต่เป็นบ่อเหมืองจำนวนมหาศาลที่ขุดโดยขบวนการลักลอบหาทองคำ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่าในภูมิภาคแอมะซอนของอเมริกาใต้

หลังจากที่มีการตัดถนนสายใหญ่ผ่านใจกลางป่าแอมะซอน การลักลอบทำเหมืองทองคำโดยผิดกฎหมายได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในหลายประเทศ ซึ่งภาพที่นาซาบันทึกได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ของปีก่อนนี้ เป็นบ่อเหมืองจำนวนหลายพันแห่งที่อยู่ในเขต Madre de Dios ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเปรู

NASA
แท้จริงแล้วแม่น้ำสีทองก็คือบ่อเหมืองจำนวนหลายพันแห่งที่ใช้ลักลอบขุดหาทองคำ

การลักลอบทำเหมืองทองคำซึ่งต้องถางป่าและขุดบ่อเหมือง จนทำให้หน้าดินกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของป่าฝนเขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างเช่นลิงชนิดต่าง ๆ เสือจากัวร์ และผีเสื้อพันธุ์หายาก

ปัจจุบันเปรูเป็นประเทศผู้ส่งออกทองคำชั้นนำของโลก ส่วนประชาชนที่มีฐานะยากจนในพื้นที่ป่าแอมะซอนก็นิยมลักลอบทำเหมืองทองคำในเขตป่าทึบ ซึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับพวกเขา

การลักลอบทำเหมืองทองอย่างมโหฬาร ยังทำให้สารปรอทที่ใช้ในการสกัดเอาทองคำรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำสำคัญ รวมทั้งปนเปื้อนในบรรยากาศในปริมาณมากด้วย โดยขบวนการลักลอบทำเหมืองทองคำจะขุดบ่อเหมืองไปตามแนวของลำธารสายเก่าในป่า ซึ่งเป็นแหล่งรวมดินตะกอนที่มีแร่ธาตุต่าง ๆ ปะปนอยู่ด้วยมาก

รายงานของโครงการ MAAP ซึ่งจับตาเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคระบุว่า ในปี 2018 การลักลอบทำเหมืองทองคำได้ทำลายพื้นที่ป่าแอมะซอนของเปรูไปแล้วเกือบ 93 ตารางกิโลเมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง