แบคทีเรียที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ปรากฏตัวบนสถานีอวกาศนานาชาติ
ทีมนักจุลชีววิทยาจากสหรัฐฯ และอินเดีย ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การนาซาระบุว่า ได้ค้นพบแบคทีเรียชนิดใหม่ 3 ชนิดพันธุ์ ที่แวดวงวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน บนพื้นผิวหลายตำแหน่งของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
การค้นพบและแยกเอาแบคทีเรียชนิดพันธุ์ใหม่ดังกล่าวมาวิเคราะห์ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2015 โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้แบคทีเรียเหล่านี้เพื่อใช้เรียกชั่วคราวว่า IF7SW-B2T, IIF1SW-B5 และ IIF4SW-B5 หลังพบมันที่แผงเหนือศีรษะของส่วนสถานีวิจัย รวมทั้งบนโต๊ะอาหารของเหล่านักบินอวกาศ และภายในโมดูล "คูโปลา" (Cupola) ซึ่งเป็นสถานีวิจัยรูปโดมขององค์การอวกาศยุโรปด้วย
ผลการถอดลำดับพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนมซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Microbiology ฉบับล่าสุด ชี้ว่าแบคทีเรียดังกล่าวอยู่ในตระกูลเดียวกับ Methylobacterium ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดินและแหล่งน้ำจืดบนโลก โดยจัดว่าเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร เนื่องจากช่วยตรึงไนโตรเจนเพื่อทำให้พืชเติบโต ทั้งยังช่วยยับยั้งโรคพืชหลายชนิดได้อีกด้วย
ทีมผู้วิจัยยังพบว่า หนึ่งในแบคทีเรียชนิดพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบคือ IF7SW-B2T มียีนที่สร้างเอนไซม์ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์สาร Cytokinin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการแบ่งเซลล์ของพืชตรงส่วนรากและยอดอ่อนได้ดี
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบคทีเรียจากพื้นโลกเหล่านี้ขึ้นไปปรากฏตัวอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ เพราะที่นั่นมีการทดลองเพาะปลูกพืชในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงมานานหลายปีแล้ว แต่การค้นพบแบคทีเรียชนิดพันธุ์ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน ทั้งยังพบว่ามันอยู่รอดและเติบโตได้ดีในห้วงอวกาศเช่นนี้ อาจเหมาะต่อการนำมาพัฒนาเพื่อช่วยในการปลูกพืชผลิตอาหารสำหรับการตั้งอาณานิคมนอกโลก
ทีมผู้วิจัยระบุว่า "การปลูกพืชในภาวะตึงเครียดสุดขั้วที่มีทรัพยากรจำกัด ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากจุลินทรีย์ชนิดพิเศษ เราจะศึกษาต่อไปเพื่อค้นหายีนตัวสำคัญของแบคทีเรียเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างยั่งยืนในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อเป็นการสนับสนุนงานด้านสำรวจอวกาศและตั้งอาณานิคมต่างดาวที่อยู่อาศัยได้ในระยะยาวของมนุษย์"