รีเซต

นาซา-สเปซเอ็กซ์: แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" เตรียมลงจอดในทะเลฟลอริดา

นาซา-สเปซเอ็กซ์: แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" เตรียมลงจอดในทะเลฟลอริดา
ข่าวสด
2 สิงหาคม 2563 ( 12:30 )
281

 

นาซา-สเปซเอ็กซ์: แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศ "ดรากอน" เตรียมลงจอดในทะเลฟลอริดา

ดักลาส เฮอร์ลีย์ และโรเบิร์ต เบห์นเคน นักบินอวกาศสหรัฐฯ เดินทางด้วยแคปซูลบรรทุกนักบิน "ดรากอน" (Crew Dragon Capsule) ออกจากสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อกลับสู่โลกแล้ว คาดว่าจะลงจอดในทะเลห่างจากชายฝั่งรัฐฟลอริดา ช่วงบ่ายวันที่ 2 ส.ค. ตามเวลาสหรัฐฯ

การกลับสู่โลกของนักบินอวกาศทั้งสองคนนับเป็นความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการส่งคนไปปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ หลังจากสหรัฐฯ ยุติการใช้งานยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสไปเมื่อปี 2011 และต้องใช้ยานโซยุซของรัสเซียในการขนส่งนักบินอวกาศแทน

ภารกิจการเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Demo-2 โดยจรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งใช้นำส่งยานดรากอน ถูกปล่อยจากฐานที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา นำเฮอร์ลี วัย 53 ปี และเบห์นเคน วัย 49 ปี ออกเดินทางสู่อวกาศเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ

สำหรับการเดินทางกลับสู่โลกของนักบินอวกาศและแคปซูลดรากอนซึ่งคาดว่าจะลงจอดในทะเลฟลอริดาเวลา 14.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือราว 01.40 น.ของวันที่ 3 ส.ค. ตามเวลาไทย นาซา-สเปซเอ็กซ์ได้เลือกจุดที่ปลอดภัยจากเฮอร์ริเคนอิซาอิอาสซึ่งกำลังเคลื่อนตัวมุ่งไปทางชายฝั่งด้านตะวันออกของรัฐฟลอริดา

ขณะนี้กองเรือเก็บกู้กำลังเข้าประจำการอยู่ห่างจากชายฝั่งในเมืองเพนซาโคลาและปานามาซิตี้ทางฝั่งตะวันตกของฟลอริดา

ทีมงานภาคพื้นของนาซา-สเปซเอ็กซ์จะต้องตรวจสอบสภาพอากาศและคลื่นลมอย่างใกล้ชิดก่อนจะส่งสัญญาณให้นักบินอวกาศเฮอร์ลีย์และเบห์นเคนนำยานดรากอนกลับสู่โลก

BBC

เมื่อได้รับสัญญาณ นักบินอวกาศทั้งสองก็จะติดเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงเหลวเพื่อออกจากวงโคจร จากนั้นยานดรากาอนจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงหลายกิโลเมตรต่อวินาทีและเผชิญความร้อนถึง 2,000 องศาเซลเซียสขณะผ่านชั้นบรรยากาศ

เมื่อเข้าสู่โลก ยานดรากอนจะปล่อยร่มชูชีพ 2 ชุดเพื่อชะลอความเร็ว ชุดแรกเป็นชูชีพเล็กซึ่งจะปล่อยออกมาขณะยานอยู่ที่ความสูง 5,500 เมตรและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 560 กม./ชม. และชูชีพชุดที่สองจะกางออกที่ระดับความสูง 1,800 เมตร เพื่อช่วยให้ยานลงจอดในทะเลได้อย่างนุ่มนวล

ครั้งล่าสุดที่แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศของสหรัฐฯ ลงจอดในมหาสมุทรคือเมื่อ 45 ปีก่อน เมื่อยานบรรทุกนักบินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอะพอลโลลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากเดินทางไปพบกับยานโซยุซของรัสเซียในอวกาศ

เฮอร์ลีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ถึงการเตรียมตัวกลับสู่โลกของเขาและเบห์นเคนว่า เขาเตรียมถุงใส่อาเจียนไว้ใกล้มือเพราะนักบินอวกาศอาจเกิดอาการวิงเวียนปั่นป่วนได้ขณะที่ยานลอยลำอยู่ในทะเลเพื่อรอทีมงานมารับ

"นอกจากถุงแล้วก็อาจจะต้องมีผ้าเช็ดหน้าเตรียมไว้ด้วย การเดินทางขึ้นสู่อวกาศส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายนักบินอวกาศอย่างไร ขาลงมาก็อาจจะเจอแบบเดียวกัน" เขาอธิบาย

แคปซูลบรรทุกนักบินอวกาศดรากอน เป็นผลงานการออกแบบและสร้างขึ้นโดยสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่นาซามอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ช่วยให้นาซาประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาบุกเบิกธุรกิจด้านอวกาศได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง