รีเซต

‘หอการค้า’ เล็งถกนายกฯ 23 มิ.ย.นี้ อัพเดตปัญหาเอสเอ็มอี-ค้าปลีกเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

‘หอการค้า’ เล็งถกนายกฯ 23 มิ.ย.นี้ อัพเดตปัญหาเอสเอ็มอี-ค้าปลีกเข้าไม่ถึงสินเชื่อ
มติชน
22 มิถุนายน 2564 ( 05:42 )
49
‘หอการค้า’ เล็งถกนายกฯ 23 มิ.ย.นี้ อัพเดตปัญหาเอสเอ็มอี-ค้าปลีกเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ สภาหอการค้าฯ มีกำหนดหารือร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออัพเดตอุปสรรคหรือเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) รวมถึงกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากเรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือ การอัดฉีดสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบของสถาบันการเงิน แบบความเสี่ยงต่ำในระดับที่รับได้ หมายความว่า รัฐบาลควรมีนโยบายกลางออกมาให้สถาบันการเงินปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อออกมาเพิ่มเติม เปรียบเทียบเหมือนการประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกฯ ที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่เป็นความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไป โดยอย่างน้อยต้องเร่งให้พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้าน ออกมาให้มากกว่านี้ก่อน

 

 

นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการหารือร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้น ขณะนี้ได้หารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ รวมถึงจะหารือเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเกียรตินาคินภัทร โดยเบื้องต้นเห็นความต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว แต่อาจยังมีข้อจำกัดที่ต้องพยายามทำให้เป็นเงื่อนไขเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ในส่วนของโครงการโกดังพักหนี้ ขณะนี้ยังเห็นการเข้าถึงโครงการดังกล่าวของผู้ประกอบการได้น้อย เนื่องจากเงื่อนไขที่ใช้ประกอบการพิจารณายังไม่เอื้อมากนัก และความกังวลของทั้งธนาคารพาณิชย์หรือลูกหนี้เองด้วย อาทิ ลูกหนี้กังวลว่า เมื่อนำสินทรัพย์เข้าฝากไว้กับธนาคารแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องการนำสินทรัพย์คืน อาจติดปัญหาเอาคืนไม่ได้ ส่วนธนาคารก็กังวลว่า หากลูกหนี้นำสินทรัพย์เข้ามาฝากกับธนาคารแล้ว เมื่อถึงเวลานำสินทรัพย์คืน อาจไม่มาเอาคืนได้ รวมถึงการพิจารณาจากเครดิตบูโร ที่มองว่าไม่ควรนำเข้าร่วมเป็นเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ จึงมองว่าควรมีเงื่อนไขหรือหลักปฏิบัติตรงกลางที่สามารถใช้ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจและเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น โดยจะหารือร่วมกับสถาบันการเงินให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะนำรายละเอียดหารือเพิ่มเติมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง

 

 

“มาตรการช่วยจ่ายค่าจ้าง (โคเพย์) หรือเงินเดือนพนักงาน ระหว่างเอกชนและรัฐบาลคนละ 50% เพื่อพยุงการจ้างงานนั้น มองว่ารัฐบาลควรต้องเร่งออกมา เพราะขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว ผลกระทบโควิดทำให้รายได้ลดลงต่อเนื่อง แม้จะกลับมาบ้างแต่ยังไม่ปกติ จึงมองว่าควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมออกมา โดยอาจต้องเปลี่ยนชื่อจากมาตรการโคเพย์ เป็นอย่างอื่นแทน เพราะพอพูดถึงโคเพย์แล้วมีคำถามตามมาว่า ทำไมรัฐบาลต้องนำเงินมาช่วยผู้ประกอบการเอกชนด้วย จึงต้องหารือร่วมกับเอกชนและรัฐบาล ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือเงื่อนไขให้ทำในลักษณะใดได้บ้าง” นายสนั่น กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง