นักวิจัยเผย 'โรคจากแมว' ทำออสเตรเลียสูญเงินเป็นพันล้าน โยงอุบัติเหตุ-ฆ่าตัวตาย
ซิดนีย์, 16 ต.ค. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (16 ต.ค.) นักวิจัยชาวออสเตรเลียเผยแพร่ผลการศึกษาที่พบว่า ในแต่ละปีออสเตรเลียมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนที่เสียชีวิตหลังติดเชื้อจากโรคที่อาศัยแมวเป็นพาหะ รวมถึงได้ทำการประเมินผลกระทบที่โรคเหล่านี้มีต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย
การศึกษาดังกล่าวซึ่งนำโดยซาราห์ เล็กจ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เปิดเผยว่าโรคเหล่านี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย และมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในออสเตรเลีย 11,000 รายต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท) ต่อปีเล็กจ์กล่าวว่าค่าใช้จ่ายที่อ้างอิงในการศึกษานั้น ประกอบไปด้วยค่ารักษาพยาบาล การสูญเสียรายได้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่มีแมวเป็นพาหะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในออสเตรเลียมาก่อนจนกระทั่งเริ่มมีแมวเข้ามา"โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) โรคพยาธิตัวกลม (cat roundworm) และโรคแมวข่วน (cat-scratch disease) เข้ามาสู่ออสเตรเลียพร้อมกับแมวในปี 1788 เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคเหล่านี้ต้องพึ่งพาแมวตลอดช่วงวงจรชีวิตของพวกมัน ดังนั้นถ้าไม่มีแมว โรคเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นที่นี่" เล็กจ์กล่าวในบรรดาทั้งสามโรคนี้ โรคท็อกโซพลาสโมซิสซึ่งเกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่ชื่อว่า "ท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ" (Toxoplasma gondii) สามารถสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนในออสเตรเลียมากที่สุด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงทารกในครรภ์"ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของปรสิตท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ มาจากผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่อพฤติกรรมและสุขภาพจิต" เธอกล่าว"การติดเชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดีไออาจเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงและลดเวลาของปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย (Reaction Time) ซึ่งนี่อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ จึงมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโรคนี้""หากไม่มีเชื้อปรสิตตัวนี้ ในแต่ละปีเราอาจลดจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ในออสเตรเลียได้ประมาณ 200 ราย และผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 6,500 ราย""การติดเชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดีไอ ยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติทางจิตหลายๆ กรณี เราอาจลดจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเภทได้ถึงหนึ่งในห้า (ร้อยละ 21) และหนึ่งในสิบของการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายได้ หากเรากำจัดการติดเชื้อนี้สำเร็จ"เพื่อลดอัตราการติดเชื้อในมนุษย์ นักวิจัยแนะนำให้เจ้าของแมวเลี้ยงแมวอยู่ในบ้านตลอดเวลา และล้างมือให้สะอาดหลังจากจัดการกล่องขับถ่ายของแมวหรือทำสวนนอกจากนี้ ดร.จอห์น รีด ผู้เขียนงานวิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยแอดิเลดในออสเตรเลียยังกล่าวว่าควรลดจำนวนประชากรแมวจรจัดในบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง"แมวจรจัดที่อยู่รอบเมืองเป็นแหล่งกักเก็บโรค เราสามารถควบคุมประชากรแมวจรจัดให้ลดลงได้ โดยการไม่ให้อาหารแมวจรจัดหรือไม่ปล่อยให้พวกมันเข้าไปยุ่งกับถังขยะ ทำหมันแมวที่เลี้ยงไว้ภายใน 5 เดือน และสนับสนุนแผนริเริ่มของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการประชากรแมว" รีดกล่าว