รีเซต

มองต่างมุม‘จีดีพี’ติดลบ ชี้‘ส่งออก’เป็นพระเอกช่วย จี้เร่งคุมโควิด-เพิ่มวัคซีน

มองต่างมุม‘จีดีพี’ติดลบ ชี้‘ส่งออก’เป็นพระเอกช่วย จี้เร่งคุมโควิด-เพิ่มวัคซีน
มติชน
6 สิงหาคม 2564 ( 11:11 )
83

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการและผู้แทนจากภาคส่วนธุรกิจถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นติดลบ 1.5-0% จากเดิม 0-1.5% เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ พร้อมแนะนำแนวทางการคุมการระบาดและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

 

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

 

 

 

มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีไทยปีนี้อาจจะติดลบ หากการแพร่ระบาดของโควิดยังยืดเยื้อรุนแรง และมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะหยุดชะงัก

 

 

แต่ส่วนตัวเห็นว่าปีนี้จีดีพียังบวกอยู่ เพราะได้อานิสงส์จากการส่งออก โดยครึ่งปีแรกการส่งออกอยู่ในขาขึ้น ประเมินว่าช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ในช่วงขาลง เพราะสายพันธุ์เดลต้าเริ่มระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังทั่วโลกได้รับผลกระทบ แต่ยังเป็นบวกอยู่ ประเมินว่าการส่งออกของไทยจะโตกว่า 10%

 

 

มาตรการของรัฐบาล พร้อมกับการลงทุนของภาครัฐ อาจจะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ 1-2% ด้วยเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท อีกทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี3.1 ล้านล้านบาท

 

 

ตัวเลขจีดีพีปีนี้อาจจะไม่ค่อยดีนัก ประเมินโตเพียงแค่ 1% แต่หากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลต้า อาจทำให้ภาคการส่งออกแย่กว่าที่ประเมินไว้ และมีการล็อกดาวน์เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จีดีพีจะติดลบได้

 

 

การกลายพันธุ์โควิด มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ ยุโรป มีวัคซีน 4 เท่าของประชากร เมื่อไม่นานนี้ทางสหภาพยุโรปได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา กว่า 1,800 ล้านโดส ทำให้วัคซีนเหล่านี้ไม่มาถึงประเทศที่กำลังพัฒนา จะสร้างปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอ เกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น

 

 

วัคซีนของไทยยังมีไม่เพียงพอ ต้องเตรียมวัคซีนไว้ 4 โดสต่อประชากร 1 คน แบ่งเป็น 2 โดสฉีดปกติ อีก 1 โดส ฉีดกระตุ้น และอีก 1 โดส เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่มาสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ

 

 

ประเทศไทยยังเตรียมตัวไม่พอ เพราะมองการเตรียมวัคซีนไว้แค่ปีนี้และปีหน้า ซึ่งต้องเตรียมรองรับไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ถ้าเตรียมตัวไม่พอก็จะมีล็อกดาวน์เกิดขึ้นอีก

 

 

ต้องสร้างความเข้าใจว่าโควิด จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้น 1.ต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ หลากหลายชนิด จะมีผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ แต่อย่าให้กระทบกับระบบสาธารณสุข สร้างดุลยภาพให้การครองเตียงผู้ป่วยไม่ล้นเหมือนในปัจจุบัน 2.ต้องดำเนินเศรษฐกิจควบคู่กันไป 3.รัฐบาลต้องบริการร่วมกับเอกชน ถ้าไม่บริหารตรงนี้เศรษฐกิจในปีหน้าจะย่ำแย่ต่อไปอีก

 

 

 

อีกอย่างที่สำคัญคือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย ที่ผ่านมาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เห็นได้ชัดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการเตรียมเยือนสิงคโปร์และเวียดนาม ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยไม่มีการเยือนไทย ทำให้วัคซีนไฟเซอร์ที่รับการบริจาคมาค่อนข้างช้าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือพัฒนานโยบายต่างประเทศให้มีความเข้มข้นขึ้น รวมถึงการร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อมีอำนาจต่อรองเรื่องการกระจายวัคซีนจากต่างประเทศ การพัฒนาวัคซีนร่วมกันในภูมิภาค

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

 

 

 

ไม่เกินคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบ และแย่สุดอาจติดลบถึง 2% หากรัฐบาลไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิดให้เป็นขาลง และให้ความมั่นใจต่อประชาชนในการมีวัคซีนฉีดให้ต่อเนื่องภายใน 2 เดือนจากนี้

 

 

ความเสียหายจากโควิดระบาดรอบปัจจุบัน และการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งจีดีพีใน 29 จังหวัดรวมกันต่อปีประมาณ 12 ล้านล้านบาท หากได้รับผลกระทบจากมาตรการ 20-30% เท่ากับเศรษฐกิจสูญเสีย 2-3 แสนล้านบาทต่อเดือน

 

 

หลายฝ่ายประเมินว่าการะบาดของโควิดในอัตราที่สูงรายวันจะยาวถึงเดือนกันยายนปีนี้ รวมกับผลกระทบต่อภาคผลิต การขาดวัตถุดิบผลิต ขาดแรงงาน แม้ความต้องการตลาดโลกดี แต่อาจทำให้ส่งออกไทยไม่ดีเท่าที่ควร

 

 

ดังนั้นภายใน 2 เดือนจากนี้ จะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นใน 3 ด้าน คือด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจว่าบริการจัดการได้อย่างดี ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 และทำให้ปีนี้จะยังคงจีดีพีที่ 15.7 ล้านล้านบาทเท่าปีก่อน

 

 

ส่วนมาตรการเพิ่มเติมระยะเร่งด่วน แยกเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องแรก ด้านสาธารณสุข ต้องเร่งพัฒนา 5 มิติ ทั้งเร่งจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด ที่มีราคาต่ำและคัดกรองได้แม่นยำ เร่งผลิตยารักษาและวัคซีนในประเทศ สนับสนุนพัฒนาแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ผลักดันเทเลเมดิซีน และเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกต่อความเข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับโควิด เพื่อให้รับข้อมูลที่แท้จริง ลดความตื่นกลัว อีกทั้งร่วมกับภาคเอกชนในการเจรจาจัดหาวัคซีนจากทั่วโลก

 

 

เรื่องสอง ด้านเศรษฐกิจ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ระยะเร่งด่วน อยากให้รัฐเร่งพิจารณาที่เอสเอ็มอีร้องขอให้ช่วยเหลือ ทั้งการพักหนี้และงดดอกเบี้ย 6 เดือนสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง พักหนี้ลดดอกเบี้ยให้กลุ่มที่ยังประคองตัวอยู่ได้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล เติมเงินทุนให้กลุ่มที่เริ่มขาดส่งเงินต้นและดอกเบี้ยผ่านกองทุนฟื้นฟู ที่ 26 สมาคมเอสเอ็มอีร้องขอไปแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จนเอสเอ็มอีทยอยถอดใจปิดกิจการ เลิกจ้างกันทุกวัน

 

 

ส่วนระยะกลางและยาว เน้นส่งเสริมใช้เทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับประเทศไม่ได้แยกย่อยเป็นแต่ละหน่วยงาน ปรับโครงสร้างเอสเอ็มอี รัฐบาลควรวางเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะผลักดันสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 34% และเตรียมพร้อมรับหลังโควิดคลี่คลาย ทั้งสร้างอาชีพจากกลุ่มแรงงานตกงานและคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะ แปลงทุนมนุษย์เป็นทุนด้านเศรษฐกิจ การแจกเงินไม่นานก็หมดลง แต่ทำอย่างไรให้เขามีอาชีพ

 

 

เห็นด้วยที่รัฐจะกู้เงินเพิ่มแต่รัฐต้องแจงรายละเอียดว่ากู้มา 2 รอบแล้วนำไปใช้อย่างไร และกู้มารอบใหม่จะใช้อะไรบ้าง

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

 

 

การที่ กกร.ปรับประมาณการจีดีพีปี 2564 ติดลบ 1.5-0% เป็นการสะท้อนจากมุมมองของภาคเอกชนที่เห็นปัญหา แต่มุมมองส่วนตัวมองว่าอาจแรงเกินไป เชื่อว่าจีดีพีปี 2564 ยังไม่รุนแรงถึงขั้นติดลบ อย่างร้ายแรงที่สุดอาจเติบโต 0-0.5% แต่ยังไม่อยากรีบด่วนสรุป เพราะตอนนี้หลายธนาคารที่ทำข้อมูลพยากรณ์เศรษฐกิจปี 2564 ออกมายังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีค่ากลางอยู่ที่ 1.06%

 

 

อีกทั้งเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างภาคการส่งออก ตอนนี้ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมา เติบโตกว่า 15-16% แม้จะพบการระบาดของโควิดในหลายโรงงานแต่ภาคการผลิตยังเดินหน้าต่อได้

 

 

ส่วนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกสะดุด เพราะตอนนี้ค่าส่งออกสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ไปจีนเริ่มอยู่ตัวแล้ว แต่การส่งออกสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ไปสหรัฐ ยังมีราคาสูง 1-2 เท่า เชื่อว่าปัญหานี้ไม่หนักหนาเท่าไหร่ เพราะประเทศไทยผ่านจุดเลวร้ายของภาคการส่งออกมาแล้ว

 

 

สำหรับความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด จะกระทบถึงซัพพลายเชน ตอนนี้หลายโรงงานได้นำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล มาใช้แพร่หลายแล้ว เป็นวิธีที่ดี ปิดเฉพาะจุดที่พบการแพร่ะระบาด แต่ในส่วนอื่นๆ ของโรงงานยังสามารถดำเนินการต่อได้ รัฐบาลก็ไม่ได้บ้าจี้ว่าเจอการแพร่ระบาดที่ไหนก็สั่งปิดทันที การนำบับเบิลแอนด์ซีลมาใช้ สามารถประคองให้เกิดการจ้างงานได้อีกทางด้วย

 

 

แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่เชื่อว่าภาคการส่งออกปี 2564 โตอย่างน้อย 10% จะช่วยประคองจีดีพีในปีนี้ไว้ได้ระดับหนึ่ง

 

 

อีกทั้งปัจจัยบวกที่มีส่วนสนับสนุนให้การส่งออกของไทยดีขึ้นคือ ค่าบาทอ่อนลงอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถสู้กับประเทศอื่นๆ ได้ แต่ภาพใหญ่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้เพราะปัจจุบันยังมองไม่เห็นทางออก ว่าจะจบลงที่ตรงไหน

 

 

เรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องฉีดวัคซีน คือการเพิ่มสภาพคล่อง แม้ขณะนี้ทางธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการแล้ว แต่ยังเลือกปล่อยในกลุ่มที่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ ได้แก่ ค้าปลีก ท่องเที่ยวและบริการ เพราะไม่มีรายได้มาค้ำประกัน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งช่วยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นเรื่องแรงงานเปราะบางจะตามมา

 

 

เมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ รัฐต้องจัดทำมาตรการเยียวยาออกมา เพราะคนส่วนใหญ่ตกงาน รัฐบาลต้องให้เงินเยียวยาเพื่อดูแลปากท้องของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่เคยได้รับ แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา เพราะบางกลุ่มอาชีพ อาทิ ค้าปลีก ที่ต้องหยุดงานชั่วคราว อาจไม่ตรงกับข้อกำหนดที่มีทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งกลุ่มอาชีพที่รัฐระบุมา 6 อาชีพ แต่ในนี้ก็มีการแตกแขนงไปอีก ดังนั้นถ้าจะเยียวยา ก็ควรลดข้อจำกัดให้น้อยลงและควรช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ

 

 

นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี โดยประเมินว่ากลุ่มไหนยังพอไปรอดเพื่อประคองการจ้างงานต่อไป อีกทั้งรัฐบาลต้องจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานในต่างจังหวัด รวมถึงโครงการโคเพย์ หรือจ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง เอามาปัดฝุ่นใหม่ โดยเปลี่ยนจากรัฐบาลและเอกชนจ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง เป็นให้นักศึกษาที่จบใหม่ฝึกงานในบริษัทเอกชน 1 ปี โดยรัฐออกเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่ง แต่เอกชนไม่ต้องออก ถือเป็นการฝึกทักษะ หากทำงานได้ดีเมื่อหมดสัญญา 1 ปี มีโอกาสสูงที่บริษัทนั้นๆ จะรับเด็กจบใหม่กลุ่มนี้เข้าทำงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง