รีเซต

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกเด้งต้นทุนผลิตที่ต้องจ่าย

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกเด้งต้นทุนผลิตที่ต้องจ่าย
มติชน
29 สิงหาคม 2565 ( 09:11 )
140
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อีกเด้งต้นทุนผลิตที่ต้องจ่าย

หมายเหตุความเห็นจากภาคเอกชนถึงมติคณะกรรมการค่าจ้างให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เฉลี่ย 8-22 บาทในแต่ละจังหวัด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ส่งผลต่อภาคธุรกิจต่างๆ และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างไรบ้าง

ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้เฉลี่ย 4.18-6.65% โดยค่าเฉลี่ยสูงสุด 6.65% หรือสูงสุด 354 บาท นั้นมี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต และอีก 6 จังหวัด สูงสุด 353 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ค่าเฉลี่ยเกิน 5% ใกล้เคียงกับภาวะเงินเฟ้อ และเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานกระจุกตัวค่อนข้างมาก จึงปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำระดับสูงกว่าพื้นที่อื่น

หากคำนวณจากตัวเลขขั้นต่ำที่ถูกปรับเป็น 354 บาทเพิ่ม 23 บาท จากอัตราเดิมที่ 331 บาท คิดเป็น 6.65% ขณะเดียวกันการปรับค่าแรงขั้นต่ำระดับต่ำสุดในค่าเฉลี่ย 4.18% อยู่ที่ 328 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี จากเดิมอยู่ที่ 313 บาท เพิ่ม 15 บาท

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน หากใช้เกณฑ์ปรับค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่หรือตลาดแรงงานครึ่งหนึ่งของประเทศ เมื่อเพิ่มขั้นต่ำ 22 บาทต่อวัน ถ้าคิดเป็น1 เดือน จะเพิ่ม 660 บาทต่อคน ผลกระทบที่อุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการ ได้รับอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมว่าใช้แรงงานจำนวนเท่าไหร่ เช่น หากใช้แรงงาน 100 คน จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 66,000 บาทต่อเดือน ถ้าใช้ 1,000 คน ต้นทุนเพิ่ม 660,000 บาทต่อเดือน ถ้า 2,000 คน ต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,320,000 บาทต่อเดือน

คนส่วนใหญ่จะคิดว่าการขึ้นค่าจ้างจะกระทบกับกลุ่มธุรกิจรายเล็ก หรือเอสเอ็มอี แต่ความเป็นจริง ไม่ใช่ทั้งหมด หากเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานเยอะ และเป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต หรือเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร แปรรูปประมง เป็นต้น จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะใช้แรงงานสูง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายมีราคาต่ำ

ดังนั้น ผลกระทบเกิดขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น และมีจำนวนแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมสูง รวมถึงอุตสาหกรรมนั้นมีมูลค่าเพิ่มต่อตลาดสูงหรือต่ำ อาจเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อย จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง

นอกจากนี้ ได้ประมาณการต้นทุน โดยคำนวณจากจำนวนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อต้นทุนรวมเท่าไหร่ เช่น ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้คนไม่เยอะ ประมาณ 10% จะมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.75% ถ้าใช้คน 20% จะมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% ถ้าใช้คนเฉลี่ย 30% จะมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0%

ดังนั้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำในรอบนี้ จะมีผลต่อต้นทุนธุรกิจเฉลี่ย 1.5-2.0% อาจกระทบราคาขายสินค้ามากขึ้น เพราะต้นทุนปรับตัว อย่างไรก็ตาม สินค้าจำหน่ายทั่วไปในห้าง อาจยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในทันที

ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นราคาจะปรับตัวสูงในกลุ่มอาชีพปรุงอาหาร ร้านอาหารทั่วไป แผงลอย ที่เป็นธุรกิจที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด เนื่องจากกลุ่มธุรกิจนี้มีลูกจ้าง ถ้ามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ในร้านอาหารมีลูกจ้าง 3 คน การปรับค่าแรง 660 ต่อคนผู้ประกอบการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 1,980 บาทต่อเดือน รวมถึงอาหารสดขึ้นราคา ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านราคากระจายต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้ ประชาชนก็จะรู้สึกได้รับผลกระทบมาก หากร้านอาหารทั่วไปจะขึ้นราคา 5-10 บาทในคราวเดียว หรือบางร้านอาจปรับราคาถี่ขึ้นแบบขั้นบันได ผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ต้นทุนมีการปรับขึ้นรอบด้าน ทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า น้ำมันแพง เป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อธุรกิจให้ตกอยู่ในสภาวะยากลำบากต่อการดำเนินธุรกิจ บางธุรกิจอาจเกิดปัญหาสภาพคล่องได้ ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ทั้งหมด และส่งผ่านราคาสินค้าโดยจะมีปรับขึ้นบ้าง เป็นไปตามกลไกตลาดที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นตามกฎหมาย หากผู้ประกอบการไม่ทำตามจะมีความผิดจึงเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นไปได้น้อยที่ราคาสินค้าบางประเภทจะไม่ปรับราคาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของลูกจ้างมองว่าเป็นผลดี อย่างน้อยที่สุดมีเงินเพิ่มเข้ามาในกระเป๋า นอกจากนี้อาจจูงใจให้มีแรงงานมากขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากช่วงโควิด ที่แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรง แรงงานจะเดินทางกลับมาทำงานมากขึ้น รวมถึงแรงงานต่างด้าวจะกลับเข้าไทยมากขึ้นเช่นกัน

ต้นทุนจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้น อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญมากที่สุด เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนที่น่ากังวลคือ การนำเข้าวัตถุดิบ เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า

จากกระแสข่าวก่อนหน้าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้นรัฐต้องการปรับอัตราเพิ่มถึง 8% หรือเป็น 360 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น เมื่อคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาร่วมกับรัฐบาลในการหาข้อสรุป และนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงรัฐและเอกชนพิจารณาตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว จึงมีข้อสรุปตามที่ประกาศให้รับรู้ทั่วกัน

รัฐพยายามออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงค่าครองชีพให้กับประชาชนมากขึ้น จากมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 เป็นเรื่องดีที่เข้ามาช่วยในช่วงเวลาที่ค่าครองชีพปรับตัวสูง การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำอาจมีผลทำให้ประชาชนกล้าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ทางกลับกันค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าปรับตัวต่อเนื่องจากเงินเฟ้อไม่ลดลงอย่างที่คาดการณ์ ประชาชนจะได้รับผลกระทบต่อในภาวะที่เศรษฐกิจเปราะบาง การใช้จ่ายจึงกลับมาตรึงตัว โดยซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และระมัดระวังใช้เงินมากขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง 5-8% คำนวณจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ ค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ในมุมของภาคเอกชน เห็นถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน เนื่องจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ต้องปรับค่าจ้างให้กับแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

แต่การปรับขึ้นค่าแรงส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยเจอการปรับขึ้นด้านต่างๆ หลายต่อพร้อมกัน อาทิ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ส่งผลให้ต้นทุนการกู้เงิน และจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่งปรับไปและกำลังจะเจอต่อไปอีก คือ ค่าไฟฟ้าที่เตรียมจะปรับขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างประเทศ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ทั้งค่าขนส่ง โลจิสติกส์ปรับขึ้น วัตถุดิบที่ต้องนำเข้าก็แพงขึ้น เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมใช้แรงงานคน และพลังงานมากน้อยไม่เท่ากัน ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น จะได้รับผลกระทบมากที่สุด อาทิ ภาคการเกษตร แปรรูปอาหาร โรงงานที่ใช้แรงงานหลักพัน หรือหลักหมื่นคน จะได้รับผลกระทบมากสุด

ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ แรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งได้เรียกร้องให้เร่งนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านมากขึ้นและเร็วขึ้นเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทใช้แรงงานคนในการผลิตสูงมาก จำนวนแรงงานอาจถึง 2 หมื่นคนต่อแห่ง เมื่อแรงงานคนไม่เพียงพอใช้ในภาคการผลิต ก็จะกระทบต่อกำลังการผลิตไม่สามารถกลับมาเต็มที่ได้

การหาทางเอาตัวรอดของภาคธุรกิจ อาทิ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนในการผลิตจำนวนมากๆ ก็หันมาพิจารณาลงทุนนำเครื่องจักรเข้ามาใช้มากขึ้น เพื่อลดการใช้กำลังคน เพราะนอกจากจะขาดแคลนแล้วยังมีค่าจ้างแพงด้วย รวมถึงผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหรือพลังงานที่ปรับขึ้นมีสัดส่วนน้อยลง

ในภาคอุตสาหกรรมขณะนี้ มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาหลายตัว รัฐบาลต้องช่วยพยุงผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า หากจะขึ้นอยากให้เป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

เกวลิน หวังพิชญสุข
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาเป็นปัญหาเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ จากเดิมที่เผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ จากสงครามรัสเซียกับยูเครน ผลกระทบจากการโควิด ราคาพลังงานสูงขึ้น แม้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งตรึงดอกเบี้ยไว้คงเดิม ไม่ได้ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับขึ้น 0.25% จากเดิม 0.50% เป็น 0.75% ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ครั้งนี้ อาจไม่เป็นแรงกดดันมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ที่ปรับขึ้นรุนแรงเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาท ความกังวลเรื่องต้นทุนเพิ่มขึ้นครั้งนี้มีความเบาบางกว่า เพราะผู้ประกอบการรับรู้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่บ้างแล้ว

แม้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนักในหลายปัจจัย แต่คาดว่าผู้ประกอบการยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และจะไม่ส่งผ่านราคาสินค้าไปสู่ผู้บริโภคในทันที เพราะผู้ประกอบการต้องชั่งน้ำหนัก เช่น หากปรับขึ้นราคาสินค้าแล้วผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจจะได้รับผลกระทบทันที ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงยอดขาย กำไร เพราะถ้าขึ้นราคาแล้วไม่มีผู้ซื้อจะไม่มียอดขาย ผู้ประกอบการอาจเลือกที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุน และยอมแบกภาระต้นทุนเพิ่ม รวมถึงยอมขาดทุนกำไร เพื่อประคองธุรกิจแทนที่จะปรับขึ้นในทันที

ธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบมาก เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเกษตร ธุรกิจการค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นผู้ประกอบการต้องมีแผนรับมือ และปรับตัวมากขึ้น เช่น การจ้างแรงงานที่มีทักษะการทำงานหลากหลาย โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน

โดยรวมแล้วการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลต่อเงินเฟ้อ แม้สินค้าบางรายการปรับขึ้นไม่มาก หรือไม่ปรับขึ้น แต่สินค้าบางรายการปรับราคาขึ้นตามต้นทุนเพิ่มขึ้น

ส่วนมาตรการของรัฐ เช่น คนละครึ่งเฟส 5 มีส่วนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้ส่วนหนึ่งจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนมาสู่การปรับขึ้นค่าแรงงานเพื่อสร้างสมดุลให้กับรายรับและรายจ่าย แต่คาดว่าภาพรวมการใช้จ่ายประชาชนยังคงไว้ระดับเดิม เพราะประชาชนยังมีควมกังวลเรื่องใช้จ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง