รีเซต

แบงก์ชาติปิดประตูเศรษฐกิจฟื้นปี’64 หวั่นม็อบซ้ำเติม เร่งวางแผนฟื้นระยะยาว 2 ปี

แบงก์ชาติปิดประตูเศรษฐกิจฟื้นปี’64 หวั่นม็อบซ้ำเติม เร่งวางแผนฟื้นระยะยาว 2 ปี
ข่าวสด
20 ตุลาคม 2563 ( 13:40 )
81
แบงก์ชาติปิดประตูเศรษฐกิจฟื้นปี’64 หวั่นม็อบซ้ำเติม เร่งวางแผนฟื้นระยะยาว 2 ปี

ผู้ว่าแบงก์ชาติปิดประตูเศรษฐกิจฟื้นปี’64 หวั่นม็อบซ้ำเติม เร่งวางแผนฟื้นระยะยาว 2 ปี - ชี้จะให้ระดับจีดีพีกลับมาก่อนโควิด-19 คงไม่เห็นจนกระทั่งไตรมาส 3/65 สื่อว่าเรื่องการฟื้นตัวไม่มาเร็ว

แบงก์ชาติปิดประตูศก.ฟื้น - นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปติดลบทุกไตรมาส ต่อเนื่องถึงปี 2565 ที่ไตรมาสแรกยังติดลบ เป็นครั้งแรกที่จะเห็นรายไตรมาสเป็นบวกเทียบปี คือไตรมาส 2/2564 เศรษฐกิจฟื้นแต่จะฟื้นช้าๆ ยาวๆ โดยคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือ 6.7 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 40 ล้านคน รายรับหายไป 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวหนักสุดในไตรมาส 2/2563

“จะให้ระดับจีดีพีกลับมาก่อนโควิด-19 คงไม่เห็นจนกระทั่งไตรมาส 3/2565 สื่อว่าเรื่องการฟื้นตัวไม่มาเร็ว ใช้เวลานาน และสุดท้ายการฟื้นตัวเหล่านี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก”

ทั้งนี้ จะมีการระบาดรอบสองหรือไม่ วัคซีนมาเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวจะมาเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ แม้จะมีการประเมินได้เป็นการทั่วไป แต่คำถามยังไม่มีคำตอบชัดเจน ทำให้ความไม่แน่นอนมีอยู่สูงมาก ตรงนี้เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัว ทำให้หลายกิจกรรมที่ควรเกิด ไม่เกิด ทุกคนอยู่ในโหมดรอคอย แต่จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ 1. การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน 2. การฟื้นตัวใช้เวลานาน และ 3. การฟื้นตัวมีความไม่แน่นอน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ ได้ส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด ส่วนผลกระทบกับเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ต้องดูสถานการณ์ว่าลากยาวหรือไม่ แต่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน คือ ความเชื่อมั่น การบริโภค และท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญที่สุด คือการจัดการปัญหา โดย ธปท. จะต้องเป็นที่พึ่งทางใจในด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังจากนี้ ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นปูพรม มาเป็นตรงจุด แยกแยะระหว่างคนที่ถูกกระทบ และต้องมีความยืดหยุ่น เพราะว่าสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องออกมาตรการที่ยืดหยุ่น และต้องครบวงจร ต้องมองข้างหน้า ระยะ 2 ปี เพราะการแก้ปัญหาใช้เวลานาน และเครื่องมือที่จะรองรับ 2 ปีหน้ามีอะไรบ้าง โจทย์ไม่ใช่แค่การพักชำระหนี้ แต่หลังจากนั้นต้องทำอย่างไรให้กระบวนการปรับโครงสร้างมันดี และต้องดูว่าเมื่อปรับโครงสร้างหนี้ ท้ายที่สุดจะต้องมีหนี้เสีย เราจะจัดการกับส่วนนี้อย่างไร

ทั้งนี้ ในฐานะที่เข้ามาเป็นผู้ว่าการ ธปท. ได้วางโจทย์สำคัญ 5 เรื่อง คือ 1. แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต และฟื้นตัวได้ 2. รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ 3. รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤตโควิด-19 และได้เน้นย้ำในข้อที่ 4. คือการสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ว่า ธปท. จะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด ภายใต้แนวคิด คิดรอบ ตอบได้ และ 5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ธปท. ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง