รีเซต

ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิดหนักหน่วง-รุนแรง กระทบทั้งภาคธุรกิจ-ครัวเรือน ชี้จีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี

ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิดหนักหน่วง-รุนแรง กระทบทั้งภาคธุรกิจ-ครัวเรือน ชี้จีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี
ข่าวสด
27 กันยายน 2564 ( 13:52 )
56
ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิดหนักหน่วง-รุนแรง กระทบทั้งภาคธุรกิจ-ครัวเรือน ชี้จีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี

ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิดหนักหน่วง-รุนแรง กระทบทั้งภาคธุรกิจ-ครัวเรือน ชี้จีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี - แนะปรับตัว

 

ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิดหนัก - นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุคโควิด ว่า ยอมรับวิกฤตโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนัก ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรงทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี แต่ตัวเลขจีดีพีก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 

“หากเทียบกับปัญหาที่รุนแรงและสะสมมานานจากวิกฤตครั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อและช่วยเหลือลูกหนี้โดยกลไกปกติของธนาคารพาณิชย์ แม้จะทำได้ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ซึ่งจุดที่ระบบธนาคารพาณิชย์ยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมจะออกหรือปรับมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็น เพื่อให้สินเชื่อไปถึงกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และลดโอกาสที่กลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงสินเชื่อ และช่วยเหลือเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการขยายเวลาชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งช่วยลูกหนี้ให้ได้จำนวนมากและเร็ว”

 

โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ แม้ช่วงหลังภาคเอกชนจะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่เพียง 3 ล้านล้านบาท

 

สะท้อนว่าเครื่องยนต์สำคัญที่จะหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน คือธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในภาวะที่มีความเสี่ยงสูงและเศรษฐกิจที่หดตัวนี้ โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะหุบร่ม หรือไม่ปล่อยสินเชื่อจะมีสูง

 

ดังนั้น ธปท. จะติดตามดูแลการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลภาระหนี้เดิม การออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้เหมาะกับปัญหา การออกแบบมาตรการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อหรือสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น และยังมีฐานะแข็งแกร่ง เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามและแรงไปกว่าเดิม ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับภาวะปกติ

 

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อวางรากฐานในอนาคตให้เศรษฐกิจไทยและธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในระยะข้างหน้ามี 2 เรื่องที่เป็นกระแสใหม่ที่ทุกคนต้องเตรียมรับมือ คือ กระแสเรื่องดิจิตอล และเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวรองรับเพราะในอนาคตจะยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

 

ในส่วนของประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น เช่น เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น ทั้งยังต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิตอล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับไปเข้มแข็งได้ จะต้องก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 และปูรากฐานให้ภาคอุตสาหกรรมในยุคหลังโควิดเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขอบคุณภาครัฐ ที่ล่าสุดได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส

 

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. มีภารกิจช่วยเหลือสมาชิกภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ให้บริการ 360 องศา แก่สมาชิกครอบคลุมทุกมิติ เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดว่าถึงเวลาต้องกล้าเปลี่ยน เปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ตลาด เปลี่ยนรูปแบบสู่ดิจิตอลมากขึ้น ยุคใหม่ต้องคิดให้ต่าง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นตัวช่วย

 

โดยด้านการตลาดวางกลยุทธ์ 3 แนวทาง คือ การเข้าสู่ระบบออนไลน์ (Go Online) การก้าวออกไปเชื่อมโยงทั่วโลก (Go Global) และการเข้าถึงโครงการภาครัฐ (Go Government) สนับสนุนทั้งองค์ความรู้ ช่องทาง เครื่องมือ และเงินทุน โดยชูโครงการเมด อิน ไทยแลนด์ (Made in Thailand) เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่ง ส.อ.ท. เตรียมจัดงานมหกรรมสินค้าแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมไทย FTI Expo ผลักดันสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์ รองรับเปิดประเทศ

 

ด้านการเงิน ส.อ.ท. ยังคงส่งเสริมสมาชิกให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เน้น 2 แนวทางคือการผลักดันสินเชื่อรูปแบบซัพพลาย เช่น สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจหรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (Supply Chain Financing) และการระดมทุนในตลาดทุนสำหรับธุรกิจและเอสเอ็มอี การส่งเสริมสมาชิกให้สามารถนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

การสร้างทักษะใหม่และการยกระดับทักษะการทำงานของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสรรหาบุคลากรให้ตรงอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 80 หลักสูตรเฉพาะทาง รวมถึงการยกระดับธุรกิจด้วยดิจิตอล แพลตฟอร์ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง