รีเซต

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เน้นช่วยลูกหนี้ฝ่าโควิด-19 บรรเทาปัญหาหนี้เสีย

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เน้นช่วยลูกหนี้ฝ่าโควิด-19 บรรเทาปัญหาหนี้เสีย
มติชน
22 กันยายน 2563 ( 11:55 )
38
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เน้นช่วยลูกหนี้ฝ่าโควิด-19 บรรเทาปัญหาหนี้เสีย

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ 0.50% เน้นช่วยลูกหนี้ฝ่าโควิด-19 บรรเทาปัญหาหนี้เสีย

วันที่ 22 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 กันยายนนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยเข้าใกล้ศูนย์ยังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ การปรับลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ได้ตรงจุดเท่าใดนัก

 

ทั้งนี้ คาดว่า กนง. อาจจะรักษาดอกเบี้ยในระดับนี้ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ล่าสุดส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 หลังจากมีมติปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จำเป็นในขณะนี้คงมุ่งเน้นไปที่เรื่องสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ย โดยหลังจากที่มาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทยอยออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้มาเป็นระยะๆ อาทิ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) เป็นต้น ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยคงออกมาตรการเพื่อช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้ประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ไปได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้เสีย (NPLs) ที่อาจเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ นอกจากผลการประชุม กนง. คงต้องติดตามประมาณการเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง คงปรับลดเพียงเล็กน้อย เนื่องจากประเด็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำกว่าแผนเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ กนง. ต้องคอยประเมินสถานการณ์ และชั่งน้ำหนักความเสี่ยงด้านต่างๆ รวมถึงประเมินความเพียงพอของมาตรการทางการเงินและทางการคลัง ในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า หากสถานการณ์มีทิศทางไปในทางลบมากกว่าที่คาด กนง. อาจพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเพิ่มเติม รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง.  อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงออกมาตรการทางการเงินแบบ unconventional ต่างๆ ในระยะข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง