รีเซต

ผสาน 3 เทคโนโลยี ฟื้นฟูป่าบางกะเจ้า พื้นที่ปอดสุดท้ายในเมือง

ผสาน 3 เทคโนโลยี ฟื้นฟูป่าบางกะเจ้า พื้นที่ปอดสุดท้ายในเมือง
TNN ช่อง16
6 มิถุนายน 2565 ( 19:01 )
233



พื้นที่ป่าคุ้งบางกะเจ้าเปรียบเสมือนปอดของคนเมือง

คุ้งบางกะเจ้า เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ตั้งอยู่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 600 ชนิด รวมถึงชนิดพันธุ์หายากของโลก และเนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ มีเนื้อที่รวมประมาณ 11,818 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียวกว่า 6,000 ไร่ ทำให้เมื่อปี 2549 นิตยสารไทม์เอเชีย (Time Asia) ฉบับ Best of Asia ได้ยกย่องให้บางกะเจ้าเป็นปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย (The Best Urban Oasis) ซึ่งเราอาจถือได้ว่ากระเจ้าถือว่าเป็นเหมือนพื้นที่ปอดขนาดใหญ่ เพราะมันช่วยฟอกอากาศให้กับคนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง นี่จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะช่วยกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าในเมืองให้อยู่คู่กับการเติบของเมืองได้อย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลป่าบางกะเจ้า

บางกะเจ้าถือเป็นพื้นที่สีเขียวต้นแบบ ที่อยู่ในโครงการ OUR Khung BangKachao ภายใต้ความร่วมมือจากกว่า 100 องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ ชุมชน ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันเพื่อที่จะอนุรักษ์ ดูแล ฟื้นฟู พื้นที่ป่าไม้ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วรุณา  ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 


โดย พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านธุรกิจ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอนุรักษ์ป่าบางกะเจ้าว่า "เริ่มมาจาก paintpoint ของการลงพื้นที่ ในเมื่อเราตั้งใจจะให้มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว และบางกะเจ้าเป็นต้นแบบของป่าในกรุงแล้ว การรักษาพื้นที่สีเขียวมันไม่ง่าย มันยากมากเลยในการจะปลูกต้นไ้ม้แล้วให้มันอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ทางวรุณาเข้ามามีบทบาทในแง่ของการช่วยบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว โดยนำเทคโนโลยีการใช้ภาพถ่าย ดาวเทียม และภาพโดรนเข้ามาช่วย 


พื้นที่สีเขียวก็เหมือนกับเด็กทารกคนนึง ที่ต้องการการดูแลให้เค้าเติบโตเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่เรานำมาใช้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการลงพื้นที่ เพราะเราไม่สามารถใช้คนเดินในพื้นที่ 6,000 ไร่ เพื่อที่จะรักษาดูแลพื้นที่สีเขียวได้ทั้งหมด เป็นการบอกว่าบริเวณไหนที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องการได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เราก็จะได้ส่งคนไปเฉพาะบริเวณนั้น และการจัดประเภทพื้นที่มันก็จะมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันออกไป บางประเภทเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่อาจจะต้องดูแลโดยการใส่ปุ๋ย บางบริเวณที่เป็นพื้นที่ป่าไม้ การดูแลก็จะเป็นอีกแบบนึง"


หลักการทำงานของแพลตฟอร์มวรุณา

การฟื้นฟูดูแลพื้นที่สีเขียวในบางกะเจ้านี้ จะทำผ่านแพลตฟอร์มวิเคราะห์ที่ชื่อ “วรุณา อนาลิติก” (VARUNA Analytics) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อให้เหมาะสมกับการดูแล โดยการสำรวจพื้นที่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อติดตามผลการรักษาพื้นที่สีเขียวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่าง ดาวเทียม ที่เปรียบเสมือนตาที่มองจากอวกาศ และโดรน ที่ทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำได้ตรงจุด แม่นยำ และประหยัดเวลาในการเดินเท้ามากขึ้น


โดยจะทำงานใน 2 ขั้นตอน คือ 

1 ใช้โดรนสำรวจและดาวเทียมเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางการสำรวจได้อย่างแม่นยำ

2 นำข้อมูลพื้นที่ ที่เก็บได้ มาวิเคราะห์ด้วยเอไอ (AI) 

จากนั้น จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ เพื่อดูแลฟื้นฟูป่าไม้ต่อไป 


ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวได้ตรงจุดและแม่นยำด้วย 3 เทคโนโลยี

แพลตฟอร์มนี้ จะใช้ประโยชน์จาก 3 เทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกัน คือ 


1.เทคโนโลยี Geographic Information System (GIS) เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสะท้อนภาพจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของบางกะเจ้า  รวมถึงเทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อให้ได้ภาพ Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) เรียกอีกอย่างว่า ดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ หนึ่งในตัวบ่งชี้ถึงพื้นที่แล้ง ที่ได้มาจากการคำนวณค่าการสะท้อนในภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งเราจะนำภาพ NDVI มาเทียบประเมินพื้นที่สีเขียวจากภาพดาวเทียมขนาดใหญ่ 

ภาพจากดาวเทียม


ภาพถ่ายดาวเทียมบนแพลตฟอร์มวรุณา

 


 2. ภาพถ่ายจากโดรน  ซึ่งเป็นเหมือนการจำลองดาวเทียมย่อส่วนลงมาติดอยู่บนอากาศยานไร้คนขับ แต่ขนาดจุดภาพหรือรายละเอียดของภาพจากโดรนจะมีความละเอียดสูงมากกว่าภาพถ่ายดาวเทียม เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม 1 ภาพ อาจจะมีรายละเอียดของจุดภาพต่อ 1 pixel อยู่ประมาณที่ 10x10 เมตร ส่วนภาพถ่ายโดรนจะมีรายละเอียดของพิกเซลอยู่ประมาณ 10x10 เซนติเมตร ซึ่งทางวรุณาจะใช้โดรนแบบมัลติโรเตอร์ ซึ่งติดตั้งกล้องมัลติสเปกตัล ด้วยจุดเด่นที่มีคุณสมบัติสามารถจำแนกความเขียวของต้นไม้ หรือสิ่งปกคลุมดินได้

โดรนติดตั้งกล้องมัลติสเปกตัล

 


3. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine learning ซึ่งเทคนิคที่แพลตฟอร์มวรุณาใช้ในการให้ AI เรียนรู้ เพื่อให้มันสามารถจำแนกสิ่งที่ปรากฎออกมาจากภาพถ่ายโดรนและภาพดาวเทียมได้ ว่าเป็นวัตถุชนิดใดในพื้นที่ เรียกว่า supervised classification หมายถึง การจำแนกประเภทข้อมูลแบบควบคุม เป็นการจำแนกประเภทข้อมูลที่ผู้ใช้งานเป็นผู้กำหนดลักษณะของประเภทข้อมูลเอง โดยเป็นผู้เลือกตัวอย่างประเภทข้อมูลให้แก่คอมพิวเตอร์ เช่น ต้นไม้จะมีรูปร่างแบบนึง แหล่งน้ำจะมีรูปร่างอีกแบบนึง 



ซึ่งกว่าที่ AI จะสามารถวิเคราะห์และบอกได้ว่าวัตถุต่าง ๆ ในพื้นที่คือสิ่งใด ต้องผ่านการเรียนรู้ผ่านชุดข้อมูลจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน Dashboard หรือ หน้าจอสรุปข้อมูล ได้ตลอดเวลา 

หน้าจอการทำงานแพลตฟอร์มวรุณา

 

 

วิธีการทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า End-to-End

ธราณิศ ประเสริฐศรี หัวหน้าทีมพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายให้ฟังว่ารูปแบบการทำงานที่วรุณาใช้ เป็นการทำงานที่เรียกว่า End-to-End หรือกระบวนการที่มีลำดับขั้นชัดเจนตั้งแต่ต้น จนนำไปสู่การลงพื้นที่ฟื้นฟู ดูแล หรือปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"
การวิเคราะห์พื้นที่แบบ End-to-End solution  ที่ทางวรุณามี มันคือการทำงานตั้งแต่หน้างาน เป็นการเก็บบันทึกข้อมูลภาคสนาม ผ่านมาระบบประมวลผลจากภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ มีการให้โมเดล AI หรือ machine learning เรียนรู้ข้อมูลที่ผ่านขั้นตอนการเตรียมข้อมุลมาแล้ว จนออกมาเป็นแอปพลิเคชัน ทั้งเว็บแอปพลิเคชัน และเป็นโมบายแอปพลิเคชันให้กับทางคณะทำงาน และทางพื้นที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ที่อัตโนมัติทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ


เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแลพื้นที่สีเขียวในป่าบางกะเจ้า

จุดหมายของแพลตฟอร์มวรุณา คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยแบ่งเบาการทำงานของคน และลดเวลาในการดูแลป่าไม้ เช่น สามารถบอกพิกัดที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อให้คนเดินเท้าไปปลูกต้นไม้ที่จุดนั้นได้โดยไม่ต้องใช้เวลาเดินหา หรือสามารถติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่บางกะเจ้าได้ตลอดเวลาผ่านแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องลงใช้คนลงพื้นที่ ขณะที่เป้าหมายในระยะยาวการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้อย่างกว้างขวางในชุมชน จะทำให้เกิดการขยายการเพาะปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้


ภาพจากโดรนแสดงให้เห็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่บางกะเจ้า

 

ผลจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ฟื้นฟูป่า

ปัจจุบันหลังจากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลในพื้นที่บางกะเจ้าภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถฟื้นฟูป่าไม้ได้กว่า 90% ในเขตพื้นที่สีเขียว 6,000 ไร่ จากพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าทั้งหมดมากกว่าหมื่นไร่ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 


อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มวรุณานี้ก็ยังคงต้องได้รับการปรับปรุงและอัปเดตข้อมูลที่สดใหม่อยู่เสมอ จากทั้งภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายโดรน รวมถึงความฉลาดของ AI เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับปัจจุบันและมีความถูกต้องแม่นยำในการระบุพิกัดพื้นที่สีเขียวที่ต้องการการดูแลฟื้นฟู 

ส่วนในอนาคต จะมีการนำแพลตฟอร์มนี้ไปขยายผลปรับใช้กับพื้นที่ป่าไม้อื่น ๆ หรือพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศได้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อต่อยอดไปสู่สมาร์ตฟาร์ม รวมถึงเป็นประโยชน์ในเรื่องการคำนวนคาร์บอนเครดิต

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง