รีเซต

สนค.เตือนผู้ผลิตเร่งปรับมาตรฐาน'เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม'ที่กำลังแทนสินค้า-บริการแบบเดิ

สนค.เตือนผู้ผลิตเร่งปรับมาตรฐาน'เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม'ที่กำลังแทนสินค้า-บริการแบบเดิ
มติชน
11 เมษายน 2565 ( 11:00 )
63

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ได้ยกระดับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้ท้าทายขึ้น โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการทุกด้าน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด หลายประเทศเริ่มออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ มารองรับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งกลไกสำคัญที่นำมาเป็นเครื่องมือ คือ ตลาดคาร์บอน หรือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีหลักการให้ผู้ก่อมลพิษหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีต้นทุนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้ภาคการผลิตปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงปี 2552 -63 ประเทศต่างๆมีการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ รวม 4,355 มาตรการ ซึ่งมาตรการของประเทศต่างๆมีลักษณะแตกต่างกัน มีทั้งมาตรการฝ่ายเดียว และมาตรการที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของหลายประเทศ สำหรับตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐ และ ยุโรป เริ่มออกมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก่อนเข้าพรมแดน หรือ ภาษีคาร์บอน เน้นอุตสาหกรรมหนักที่ปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต เช่น กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป ที่เรียกเก็บค่าใบรับรองการนำเข้าสินค้า อาทิ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า โดยผู้นำเข้าจะต้องเริ่มรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2566 ก่อนบังคับใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบ และมีการเก็บค่าหนังสือรับรองจริงในวันที่ 1 มกราคม 2569 และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) ของสหรัฐ อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567

 

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า ภาคเกษตรเป็นสาขาหนึ่งที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เตรียมแผนการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label/Carbon Footprint Label) สำหรับสินค้านำเข้าประเภทเนื้อสัตว์และนม ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ จะต้องให้ความสนใจมากขึ้นกับการเก็บภาษีคาร์บอนในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกอาหาร ทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูป ต้องเร่งปรับตัวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ หลายประเทศ เช่น อังกฤษ และ สหภาพยุโรป จะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน และกำหนดให้ติดฉลากคาร์บอน

 

สำหรับการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปที่ผ่านมา ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นมูลค่า 1,464 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเป็นมูลค่า 1,194 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออกที่สำคัญ อาทิ ไก่แปรรูป สัดส่วน 9.84% ข้าว สัดส่วน5.03 % ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ สัดส่วน 9.47% และผลไม้กระป๋องและแปรรูป สัดส่วน 12.08% ในส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นมูลค่า 1,582 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเป็นมูลค่า 3,090 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออก อาทิ ข้าว สัดส่วน14.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สัดส่วน 2.55% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สัดส่วน 39.72% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สัดส่วน 26.60% และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆสัดส่วน 17.16%

 

” แม้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังไม่มีการพิจารณาการเก็บภาษีคาร์บอนในระยะแรกนี้ แต่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด และต้องเตรียมความพร้อมเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามมาตรการ รวมทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการค้า ให้สามารถวัดและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Label/Carbon Footprint Label) ได้ตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ” นายรณรงค์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง