รีเซต

8 โรคประจำตัว หากติดโควิด-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง

8 โรคประจำตัว หากติดโควิด-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง
TrueID
8 มกราคม 2564 ( 11:23 )
675

จากข่าวผู้ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19ล่าสุด พบว่ามีโรคประจำตัว และมีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ทำให้หลายคนที่มีโรคประจำตัวเกิดข้อสงสัย ว่าทำไมด้วยโรคประจำตัวบางโรค หากติดโควิด-19 มักจะพบความเสี่ยงที่อาการจะเพิ่มความรุนแรงกว่าคนทั่วไป ในวันนี้ trueID news จะมาไขข้อข้องใจว่าคุณหรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวนี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่

 

 

 

 

โรคเบาหวาน 


ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงหากติดโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเป้าหมาย มักมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้การติดเชื้อยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนและควบคุมได้ยาก ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

 

โรคไตเรื้อรัง 


ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในขั้นที่ 3 ถึงขั้นที่ 5 ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดและผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายไตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดอาจมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไตต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

 

โรคปอดและทางเดินทางหายใจ 


ผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ป่วยโรคหืดหอบระดับปานกลางถึงรุนแรงและผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคปอดอักเสบเรื้อรังและโรคซิสติก ไฟโบรซิส เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นอาการหอบหืดและอาจทำให้เกิดโรคปอดบวมและโรคร้ายแรงอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยโรคปอด โควิด-19 อาจทำให้โรคปอดกำเริบหนักขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง 

 

โรคอ้วน


ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงคือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไปหรือตั้งแต่ 30 ขึ้นไปสำหรับชาวเอเชีย ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงมีความเสี่ยงในการเกิด กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงยังมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการมีอาการที่รุนแรง

 

โรคตับ


ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยภาวะที่มีตับอักเสบจากภูมิไวเกิน (AIH) และผู้ป่วยมะเร็งตับที่อยุ่ระหว่างการรักษาด้วยคีโม มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรกหากติดโควิด-19 เนื่องจากอาการป่วยจากโรคโควิด-19 รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่เดิม

 

ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 


ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ คนที่สูบบุหรี่ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังอาจติดเชื้อนานกว่าผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอื่นๆ 

 

ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน 


เช่น ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่แต่ขณะเดียวกันทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้นและอาจมีความรุนแรงของการติดเชื้อสูงขึ้น


ผู้ป่วยโรคหัวใจ 


หากติดโควิด-19 อาจมีอาการหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อาการโรคหัวใจที่รุนแรงยิ่งขึ้นนี้เกิดจากอาการป่วยของการติดเชื้อไวรัสและการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นจากภาวะไข้ ประกอบกับระดับออกซิเจนที่ต่ำลงจากปอดบวมและโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข้อมูล : รพ.บำรุงราษฎร์

ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay 

++++++++++

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง