รีเซต

คนวงในธุรกิจชี้ ตลาดจีนยังต้องการ'ทุเรียนไทย' แม้ทุเรียนไหหลำวางตลาด

คนวงในธุรกิจชี้ ตลาดจีนยังต้องการ'ทุเรียนไทย' แม้ทุเรียนไหหลำวางตลาด
Xinhua
14 มิถุนายน 2566 ( 10:41 )
45

ซานย่า, 13 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ กระแสข่าวทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เตรียมออกวางตลาดในประเทศช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้บริโภคบรรดาคนวงในมองว่าการผลิตทุเรียนภายในประเทศของจีนไม่ได้มีแนวโน้มแปรเปลี่ยนทิศทางการบริโภคทุเรียนของจีนที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และ'ทุเรียนไทย' ยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีนเนื่องจากการผลิตทุเรียนในจีนยังอยู่ระยะแรกเริ่มเหมือนเด็กทารกหัดตั้งไข่ ไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย รวมถึงมีไม่กี่มณฑลที่สามารถปลูกได้ ทั้งจีนยังเป็นประเทศผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ด้วยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของบริษัท ไห่หนาน โยวฉี อะกรีคัลเจอร์ จำกัด ในเมืองซานย่า ซึ่งถือเป็นฐานปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันด้วยขนาด 1.2 หมื่นหมู่ (ราว 5,000 ไร่)ปัจจุบันทุเรียนที่ฐานปลูกแห่งนี้เริ่มสุกและคาดว่าจะทยอยถูกเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทุเรียนเหล่านี้จะช่วยลดราคาหรือกระทบความต้องการทุเรียนนำเข้าหรือไม่ตู้ไป่จงจากฐานปลูกทุเรียนแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ไห่หนานมีการปลูกทุเรียนรวมกว่า 3 หมื่นหมู่ (ราว 12,500 ไร่) แต่มีทุเรียนสุกพร้อมส่งขายในปีนี้เพียง 1 พันหมู่ (ราว 416 ไร่) หรือคิดเป็นปริมาณราว 50 ตันแม้ไห่หนานจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งหลักของจีน แต่ยังคงมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนอยู่อย่างจำกัดมาก โดยต่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ก็ยังถือเป็นแหล่งผลิต "ขนาดเล็ก" อยู่ดี"การปลูกทุเรียนภายในประเทศอาจได้ลดต้นทุนในการขนส่ง แต่ผลผลิตยังเป็นส่วนน้อยมากสำหรับส่วนแบ่งของตลาด" ตู้กล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ประกอบการไม่ได้คิดเร่งเพิ่มการลงทุนและพื้นที่ปลูกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าด้วยผู้บริโภคชาวจีนนั้นชื่นชอบ "ราชาแห่งผลไม้" อย่างทุเรียนกันมากจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนมาจากการนำเข้า ซึ่งข้อมูลสถิติพบว่าจีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน และส่วนใหญ่มาจากไทยเฉินเหล่ย เลขานุการสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน กล่าวว่าการผลิตทุเรียนในประเทศยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกขนาดเล็ก ยังไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระยะสั้นนี้"ราคาทุเรียนจะทรงตัวอยู่ระดับสูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ โดยทุเรียนถือเป็น 'ผลไม้หรู' ชนิดหนึ่งในจีน แม้จะมีทุเรียนที่ปลูกในประเทศออกวางตลาด แต่ด้วยการปลูกขนาดเล็ก ทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนปริมาณมากในระยะยาว" เฉินกล่าวด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรชี้ว่าต่อให้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวย แต่จีนจะยังคงเผชิญปัญหาความยากลำบากทางเทคนิคในการเพาะปลูกทุเรียนขนาดใหญ่โจวจ้าวสี่ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน ระบุว่าทุเรียนเป็นพืชต่างถิ่น การปลูกต้นกล้าในประเทศจึงเป็นเรื่องยากในระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขทั้งเรื่องอาการ ความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ปุ๋ย และน้ำ"แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราค้นพบแนวทางการจัดการอย่างระบบน้ำหยดและบ่มเพาะต้นกล้าเตี้ยๆ ที่ทนลมในไห่หนานได้ แต่การปลูกขนาดใหญ่ในท้องถิ่นทั้งหมดยังคงอยู่ขั้นทดลอง" โจวกล่าวปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในไห่หนานส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนไร้ผล และการปลูกยังคงเจอสารพัดปัญหาที่ต้องเอาชนะ ทั้งการเพาะและปลูกต้นกล้าคุณภาพสูง เทคนิคจัดการการปลูก และการควบคุมศัตรูพืชคนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่าไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าแห่งหลักของจีนในระยะยาว เพราะทุเรียนไทยมีรสชาติอร่อยโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้ทุเรียนไทยจะยังครองตลาดการบริโภคทุเรียนของจีนในอนาคตด้านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นช่องทางหลักของการนำเข้าทุเรียนไทยสถิติจากศุลกากรนครหนานหนิงของกว่างซี ระบุว่าปริมาณการนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านพรมแดนกว่างซี ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม สูงแตะ 1.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 381.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5.51 พันล้านหยวน (ราว 2.69 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 403.9 เมื่อเทียบปีต่อปีนครหนานหนิงของกว่างซีมี "ตลาดไห่จี๋ซิง" เป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนอยู่ 32 ราย และปริมาณการค้าส่งทุเรียนในปีก่อนสูงราว 2.4 หมื่นตันส่วนยอดจำหน่ายทุเรียนของตลาดฯ ช่วงเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม รวมอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยมีทุเรียนหมอนทองของไทยครองตำแหน่งขายดีที่สุดหวงเจี้ยนซิน ฝ่ายบริหารธุรกิจของบริษัทขนส่งสินค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เผยว่าแต่ละวันบริษัทรับรองการทำพิธีศุลกากรผ่านด่านโหย่วอี้ของทุเรียน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นปริมาณราว 200-300 ตัน"ความต้องการและความนิยมทุเรียนไทยของตลาดผู้บริโภคชาวจีนนั้นสูงมาก ส่วนทุเรียนที่ปลูกในประเทศยังคงต้องรอผ่านบททดสอบเรื่องรสชาติก่อน" หวงกล่าวโจวจ้าวสี่ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน เสริมว่าจีนส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทุเรียนไห่หนานยังมีช่องโหว่ที่ต้องพัฒนาอีกมาก"แม้จีนจะสามารถปลูกทุเรียนในประเทศได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านปัจจัยธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูก ทุเรียนนำเข้าจากไทยจึงยังจะเป็นส่วนเสริมสำคัญ" โจวกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง