"ลูกหยียะรัง-ข้าวหอมมะลิพะเยา" ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งผลักดันการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(จีไอ) และส่งเสริมการต่อยอดเชิงพาณิชย์โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนจีไอ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า ตลอดจนช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ เพิ่มอีก 2 รายการ คือ ลูกหยียะรัง ของจังหวัดปัตตานี และข้าวหอมมะลิพะเยา ของจังหวัดพะเยา ทำให้ปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอไทยไปแล้วทั้งสิ้น 130 รายการ”
สำหรับสินค้าจีไอ 2 รายการล่าสุด มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดังนี้ 1. ลูกหยียะรัง ขึ้นทะเบียนจีไอทั้งแบบผลและแบบแปรรูป ลูกหยียะรัง มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ลูกหยีพันธุ์ทวยหรือทวยงาช้าง และพันธุ์หยีธรรมดาหรือหยีบ้าน มีผลใหญ่ ผิวเปลือกบางสีดำ เนื้อในหนายุ่ยสีแดงหรือแสด รสชาติเปรี้ยวอมหวานหรือเปรี้ยวอมฝาด ปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี มากกว่า 100 ปี ประกอบกับภูมิปัญญาชาวบ้านในการเก็บรักษาผลลูกหยี และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ลูกหยีทรงเครื่อง ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ อันเป็นสูตรดั้งเดิม ที่คนในพื้นที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
สำหรับ 2. ข้าวหอมมะลิพะเยา ขึ้นทะเบียนจีไอ ครอบคลุมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 เมล็ดข้าวสารมีรูปร่างเรียว ยาว เมล็ดใส เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แม้ทิ้งไว้นานก็ยังคงกลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขาหรือแอ่งที่ทับถมด้วยตะกอนแม่น้ำทำให้ดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ โดยจังหวัดพะเยานับเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยมาอย่างช้านาน
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนจีไอ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์จีไอในเชิงพาณิชย์ การคุ้มครองและควบคุมคุณภาพ ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วๆนี้ จะมีการจัดกิจกรรมตลาดจีไอ วันที่ 15 – 18 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ จึงอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและสินค้าคุณภาพจากชุมชนท้องถิ่น นอกจากจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้ว ยังจะได้รับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพตามมาตรฐานจีไอ GI กลับไปอีกด้วย