รีเซต

3 เทคโนโลยีด้านอากาศและการเตือนภัยยุคใหม่ | TNN Tech Reports

3 เทคโนโลยีด้านอากาศและการเตือนภัยยุคใหม่ | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
1 กรกฎาคม 2567 ( 14:06 )
27



นับวันโลกของเราต้องเจอสภาพอากาศที่แปรปรวน ลมพายุที่รุนแรง ภัยธรรมชาติต่าง ๆ และเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนหรือโลกเดือดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด


และเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและภัยธรรมชาติต่าง ๆ จึงได้มีนักพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนนี้มากขึ้น เช่น นวัตกรรมสำหรับอุณหภูมิร้อนจัด หนาวจัด ไปจนถึงแอปฯ เตือนภัยแผ่นดินไหวฝีมือเด็กไต้หวัน


ฟินแลนด์สร้างโรงเก็บความร้อนใต้ดิน


บริษัทด้านพลังงานในประเทศฟินแลนด์ ประกาศโครงการก่อสร้างโรงเก็บพลังงานความร้อนใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


โดยมีชื่อว่า วารันโต (Varanto) พัฒนาโดยบริษัท วานตาน เอเนอร์เจีย (Vantaan Energia) ซึ่งจะเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานความร้อนตามฤดูกาลไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน สามารถสูบไปใช้ทำความร้อนในอาคารและบ้านเรือนต่าง ๆ 


โดยจะมีการสร้างห้องกักเก็บ ลักษณะเป็นอุโมงค์ หรือ ถ้ำ 3 แห่ง แต่ละแห่งมีความยาว 300 เมตร สูง 40 เมตร และกว้าง 20 เมตร โดยอยู่ลึกลงไปต่ำกว่าระดับพื้นดิน 100-140 เมตร และมีปริมาตรอยู่ที่ 1,100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งภายในจะถูกเติมด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 140 องศาเซลเซียส


บริษัทระบุว่า ตัวโรงเก็บความร้อน สามารถกักเก็บพลังงานความร้อนได้ถึง 90 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในความจุเต็มพิกัด เทียบเท่ากับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 1,300,000 ก้อน ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของบ้านเรือนในเมืองขนาดกลางได้ตลอดทั้งปี 


สำหรับโรงกักเก็บพลังงานความร้อนวารันโต คาดว่าเมื่อสร้างเสร็จก็จะกลายเป็นแหล่งเก็บพลังงานความร้อนใต้ดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอยู่ที่ 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 7,800 ล้านบาท


แอปติดตามแผ่นดินไหวฝีมือเด็กไต้หวัน


สองนักเรียนชาวไต้หวันจับมือกันพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามความรุนแรงของแผ่นดินไหว และมีผู้ใช้งานมากขึ้นหลังจากที่ไต้หวันต้องเผชิญกับสถานการณ์แผ่นดินไหวมากกว่า 1,300 ครั้ง


โดยเมื่อปี 2022 หลิน รุย (Lin Ruei) และ กัว เฉิน หยู (Kuo Chen Yu) สองนักเรียนชาวไต้หวัน ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือชื่อว่า Disaster Prevention Information Platform หรือ DPIP ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลการป้องกันภัยพิบัติ และมียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ  370,000 ราย จาก 3,000 ราย


ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากการที่ไต้หวัน ได้เผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.2 เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาและยังมีอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นมากกว่า 200 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์


แอปพลิเคชันที่นักเรียนชาวไต้หวันพัฒนาขึ้นนี้ นอกเหนือจากการใช้ข้อมูลที่รัฐบาลมอบให้เพื่อกระจายข้อมูลไปยังผู้ใช้งานแล้ว ทางผู้พัฒนายังกล่าวว่าแอปของพวกเขา ยังสามารถติดตามคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวมากกว่า 130 ตัว ที่ทีมงานติดตั้งทั่วเกาะ เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ล่วงหน้าประมาณ 30 วินาที 


ซึ่งพวกเขาหวังว่าผลงานนี้ อาจจะช่วยให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น 


แผ่นทำความเย็นแบบสวมคอ


ช่วงที่อากาศร้อน ๆ จะดีแค่ไหนถ้าเรามีเครื่องทำความเย็นแบบส่วนตัว และนี่ก็คือนวัตกรรมเครื่องทำความเย็นที่ว่า โดยมาในชื่อ เทอร์โมเน็กส์ (THERMONECKS) เป็นแผ่นทำความเย็นจากก้อนน้ำแข็งสำหรับสวมใส่บริเวณลำคอ ที่ทางบริษัทเคลมว่าเมื่อน้ำแข็งด้านในละลาย ยังไม่ทำให้เกิดหยดน้ำเกาะที่อุปกรณ์ และไหลลงมาเปียกเสื้อของผู้ใส่


โดยตัวอุปกรณ์ชั้นนอก จะทำจากวัสดุตาข่ายระบายอากาศ ที่ช่วยให้อากาศไหลเวียนได้สูง  ในขณะที่อุปกรณ์ชั้นใน จะทำจาก “วัสดุเปลี่ยนสถานะ” หรือ พีซีเอ็ม (Phase change material, PCM) ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถดูดซับและปลดปล่อยพลังงานความร้อน และเปลี่ยนสถานะสารจากของแข็งเป็นของเหลว และของเหลวเป็นของแข็งได้ จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป


ตัวอุปกรณ์พัฒนาจากวัสดุประเภทฟิล์มยูรีเทน ทีพียู (TPU) เกรดทางการแพทย์ ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีโอกาสเกิดหยดน้ำได้เกือบเป็นศูนย์ ดังนั้นแม้น้ำแข็งในอุปกรณ์จะละลาย แต่ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่มีหยดน้ำไหลมาโดนเสื้อผ้าของเรา


เราสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปใช้งานได้ง่าย ๆ แค่นำไปไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นทิ้งไว้ประมาณ 10-50 นาที เพื่อให้แผ่นทำความเย็นในอุปกรณ์แข็งตัว จากนั้นจึงนำไปสวมกับแผ่นดาม และใส่ไว้บริเวณลำคอ ช่วยคลายร้อนให้กับร่างกาย 


สำหรับอุปกรณ์นี้สามารถรักษาอุณหภูมิได้ที่ระดับ 14-20 องศาเซลเซียส และสามารถรักษาความเย็นขณะใช้งานในอาคารได้ถึง 2 ชั่วโมง ส่วนการใช้งานกลางแจ้ง ในบริเวณที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ตัวอุปกรณ์จะอยู่ได้ที่ประมาณ 70 นาที 


สำหรับอุปกรณ์ชิ้นนี้ ปัจจุบันบริษัท ดีเกิร์ฟ (DEGERVE) บริษัทผู้พัฒนาได้มีการวางจำหน่ายแล้วผ่านทางหน้าเว็บไซต์ ในราคาเริ่มต้นที่ 139 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,000 บาท 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง