รีเซต

นักดาราศาสตร์ชวนดู ‘สุริยุปราคาบางส่วน’ ในวันครีษมายัน กลางวันยาวสุดในรอบปี พลาดรออีก 7 ปี

นักดาราศาสตร์ชวนดู ‘สุริยุปราคาบางส่วน’ ในวันครีษมายัน กลางวันยาวสุดในรอบปี พลาดรออีก 7 ปี
มติชน
20 มิถุนายน 2563 ( 10:33 )
823

 

วันนี้ 20 มิถุนายน 2563 นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ สุริยุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13:00-16:10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ และยังตรงกับ วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด

 

สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05:51 น. ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

 

นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า กลางวัน กลางคืน เกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันโลกก็ โคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณ ต่างๆ ของโลกในแต่ละช่วงของปีได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน และเกิดเป็นฤดูกาล

 

ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น – ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

 

 

วันที่ 21 มิถุนายน 2563 นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งสองในวันเดียวกัน ชมสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน นอกจากจะสังเกตการณ์ได้เองผ่านอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์แล้ว ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ภาคกลาง : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และ ภาคใต้ : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 13:00 – 16:10 น. นายศุภฤกษ์กล่าว

 

ขณะที่ นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา สำหรับภูมิภาคตะวันออกและใกล้กรุงเทพฯ ได้จัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน

 

โดยเตรียมเน้นความปลอดภัยปลอดจากโควิด-19 อาทิ มีกล้องดูดาวแยกเป็นสัดส่วน ถ่ายทอดผ่านจอ,อุปกรณ์การดูสุริยุปราคา ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเห็นได้ในประเทศครั้งนี้สำคัญ เพราะหลังจากปรากฏการณ์ครั้งนี้ จะเกิดอีกใน 7 ปีข้างหน้า

 

จะมีการแจกแว่นตาดูสุริยะปราคา 1 อัน ต่อ 1 แผ่นฟรี ที่ปลอดภัยจากแสงอาทิตย์ ขอเชิญมาชม ซึ่งสถานที่ดูกว้างขวาง โดยจัดตั้งแต่เริ่มปรากฏการณ์ถึงสิ้นสุด

สำหรับสุริยะปราคาบางส่วนในประเทศไทย สามารถชมได้ตั้งแต่ 13.00 น. ทั่วประเทศ ถึง 16.10 น. ทางภาคเหนือชมได้มากกว่า ภาคใต้กินพื้นที่น้อย

 

โดยแนวเกิดคราส-สุริยุปราคาวงแหวน (21 มิถุนายน 2563) (จากแผนที่ ) เส้นสีน้ำเงินที่พาดกลางแผนที่จากซ้ายไปขวา คือบริเวณที่จะเห็นสุริยุปราคาวงแหวน โดยเริ่มที่ประเทศ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, คองโก, และ เอธิโอเปีย แล้วผ่านเอเชียตะวันตกคือประเทศเยเมนและโอมาน แล้วผ่านทางใต้ของประเทศปากีสถาน และ ทางเหนือของอินเดีย ประเทศสุดท้ายคือจีน ก่อนที่จะสิ้นสุดแนวคลาสวงแหวนในทะเลฟิลิปินส์ นั่นหมายความว่าผู้คนในประเทศเหล่านี้จะได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน

 

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตเส้นสีแดง ตั้งแต่แอฟริกาและเอเชีย นอกเหนือที่กล่าวถึงข้างบน บางประเทศในยุโรป เเละทางเหนือของออสเตรเลีย รวมถึงไทย จะเห็นเป็นสุริยุปราคาครั้งนี้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งเวลาและลักษณะการบังก็แตกต่างกันออกไป บางพื้นที่จะไม่เห็นตลอดทั้งปรากฏการณ์”ร่ยวรวิทย์กล่าว

 

“โดยการเกิดปรากฏการณ์ สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เงาของดวงจันทร์จะทอดมายังโลก ทำให้คนบนโลก (บริเวณเขตใต้เงามืดของดวงจันทร์) มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง หรือบางแห่งเห็นดวงอาทิตย์มืดหมดทั้งดวง สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลากลางวันและตรงกับวันแรม 15 ค่ำ หรือวันขึ้น 1 ค่ำ เท่านั้น

 

สุริยุปราคามี 3 ประเภท คือหาก ตำแหน่งบนพื้นโลกที่อยู่ในเขตใต้เงามืดของดวงจันทร์จะมองเห็นดวงอาทิตย์มืดมิดทั้งดวงเรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง ในขณะที่ตำแหน่งบนพื้นโลกที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังไปบางส่วน เรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน สำหรับการเกิดสุริยุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าปกติ ทำให้เงามืดของดวงจันท์ทอดตัวไปไม่ถึงพื้นโลก แต่ถ้าต่อขอบของเงามืดออกไปจนสัมผัสกับพื้นผิวโลกจะเกิดเป็นเขตเงามัวขึ้น ตำแหน่งที่อยู่ภายใต้เขตเงามัวนี้จะมองเห็น สุริยุปราคาวงแหวน” นายวรวิทย์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง