รีเซต

TGEเด่นเข้าตาพันธมิตร เจรจาดีลขยายธุรกิจเพียบ

TGEเด่นเข้าตาพันธมิตร เจรจาดีลขยายธุรกิจเพียบ
ทันหุ้น
24 มีนาคม 2566 ( 06:59 )
70
TGEเด่นเข้าตาพันธมิตร เจรจาดีลขยายธุรกิจเพียบ

#TGE #ทันหุ้น - TGE แววโตสนั่นหลังขึ้นแท่นบิ๊กโรงไฟฟ้าขยะ แย้มพันธมิตรต่างชาติหลายรายเจรจาขอร่วมขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าทดแทน ขยายไลน์สู่พลังงานลม โซลาร์ ชีวภาพ และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เดินหน้าดีลซื้อกิจการ พร้อมวาง 5 กลยุทธ์หลักมุ่งเติบโตยั่งยืน วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 โบรกวางเป้า 3.10 บาท

 

นายพงศ์นรินทร์  วนสุวรรณกุล  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทเป็นผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจำนวนมากถึง 5 แห่งในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทมีพันธมิตรจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อที่จะร่วมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังสะอาดต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทจึงได้เตรียมการเดินหน้ารุกเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ประเภทใหม่ๆ เพิ่มเติมทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ

 

ตลอดจนการลงทุนธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ลดโลกร้อน และสามารถสร้างคาร์บอนเครดิตได้ โดยในการลงทุนคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับมากกว่า 10% ขึ้นไป และจะมีดีลการซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องด้วย

 

นายพงศ์นรินทร์  ยอมรับว่า สัปดาห์นี้บริษัทได้รับจดหมายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้ไปเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โรงไฟฟ้าขยะชุมพร และในเดือนหน้าคาดว่าจะมีการเรียกเซ็นสัญญา PPA เพิ่มเติมอีก 2 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งหลังจากนั้นบริษัทก็จะเริ่มก่อสร้างได้ เนื่องจากได้มีการเตรียมการด้านเงินทุนไว้แล้ว

 

@พอร์ตโตกระโดด

 

นายสุเมธ  ลักษิตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยว่า จากแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทที่มุ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2570 และเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นมากกว่า 200 MW ภายในปี 2575 จากปัจจุบันที่กำลังการผลิตติดตั้งรวม 69.6 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 MW และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 5 แห่ง ที่ชนะประมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังการผลิตติดตั้งรวม 39.9 MW ได้แก่ ราชบุรี สระแก้ว ชุมพร จะเริ่ม COD ปลายปี 2567 ส่วนสมุทรสาครและชัยนาท คาดว่าจะ COD ปลายปี 2568

 

@ 5 กลยุทธ์ขยายธุรกิจ

 

ทั้งนี้บริษัทได้วาง 5 กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ ได้แก่ 1. การขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าธุรกิจหลักโดยจะประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอีก 2 โครงการ ทำ M&A ขยายช่องทางสร้างรายได้ใหม่ เช่น ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล, วู้ดพาเล็ต เป็นต้น ศึกษาการนำขี้เถ้าในกระบวนการผลิตมาต่อยอดสร้างรายได้

 

และเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวล TPG จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER แล้ว มีปริมาณคาร์บอนเครดิต 33,964 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ในปีแรก และในปีที่ 2 จะได้รับรองเพิ่มขึ้นอีกกว่า 33,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนนอกจากนี้โรงไฟฟ้าชีวมวล TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียน T-VER อีก 1 แห่ง และ TGE ก็อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน I-REC ด้วยเช่นกัน คาดว่าจะผลักดันรายได้ของบริษัทในปี 2567 เพิ่มขึ้นได้อีกมากกว่า 50% จากปี 2565 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 938 ล้านบาท

 

2. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและเดินเครื่องจักรผลิตพลังงานไฟฟ้า 3. การบริหารพอร์ตโฟลิโอ โดยรุกเข้าสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทใหม่ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ เพื่อสร้างความสมดุลแก่พอร์ตโฟลิโอ จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอยู่ระหว่างขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 5 โครงการ ที่ชนะการประมูลจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 4. การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต

 

5. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก ESG โดยบริษัทมุ่งเน้นการขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

 

@ เป้า 3.10 บาท

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์เอเอสแอล การประเมินมูลค่าพื้นฐาน TGE ที่เหมาะสมสิ้นปี 2566 เท่ากับ 3.10 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี SOTP ซึ่งมาจากโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 8 โครงการ โดยแบ่งเป็นเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ COD แล้ว 3 โครงการ ได้มูลค่า 0.69 บาทต่อหุ้น โรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้มูลค่า 0.83 บาทต่อหุ้น และโรงไฟฟ้าที่พึ่งชนะการประมูล 2 โครงการ มูลค่า 1.58 บาท และ TGE ยังมี hidden Value อยู่อีกมาก โดยบริษัทมีแผนการเติบโตทั้ง Organic Growth ผ่านการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจ Carbon Credit ซึ่งปัจจุบัน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้ COD ไปแล้วนั้น ได้ขึ้นทะเบียนรับ Carbon Credit เกือบ 4 หมื่นตันต่อปีไปแล้ว และยังมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่กำลังพัฒนาอีก 5 โครงการจะได้รับ Carbon Credit เพิ่มอาจไปถึง 1 แสนตันต่อปีได้ รวมถึงการเข้าร่วมประมูลจากภาครัฐและการเติบโตแบบ In-Organic Growth ผ่านการทำ M&A และ JV

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง