"สุริยะ"ยันก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ไม่ขาดตลาด เตือนใช้ผิดวิธีเสี่ยงอุบัติเหตุ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าประชาชนเริ่มวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้าง ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวันทำให้การผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอหรือขาดตลาด จึงได้มีการจัดหาและเก็บท่อออกซิเจนไว้ที่บ้าน กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานไปยังกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิต ซึ่งได้รับการยืนยันว่าภาพรวมศักยภาพการผลิตของโรงงานยังมีเพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชน
“ ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต เพราะจากการประสานงานไปยังเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ได้รับคำตอบยืนยันว่าศักยภาพการผลิตของโรงงานแต่ละกลุ่มยังมีเพียงพอรองรับความต้องการของประชาชนแน่นอน”
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการประสานกับทางกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ได้รับการยืนยันถึงศักยภาพการผลิตของโรงงาน โดยภาพรวมทั้งประเทศกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1,860 ตันต่อวัน จากจำนวนโรงงาน 15 โรงงาน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่
โดยในปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดระยอง โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน ซึ่งหากมีกรณีฉุกเฉินสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ประมาณ 400-600 ตัน/วัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 660 ตัน/วัน
“จากตัวเลขประมาณการข้างต้น จึงมั่นใจได้ว่าศักยภาพของโรงงานด้านการผลิตสามารถรองรับความต้องการของพี่น้องประชาชนในอนาคตได้ ขณะเดียวกันมีประชาชนบางส่วนได้จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ที่บ้าน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งนี้ กรอ.จะประสานเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อติดตามการใช้ก๊าซออกซิเจนและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”